สำหรับคู่สมรสทั่วไป การหย่าร้างอาจพิจารณาดูเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ “ดร.แอน” ผู้หญิงอเมริกันที่มาใช้ชีวิตในประเทศไทยกว่า 40 ปี การตัดสินใจของเธอกลายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ที่ได้ยิน เกิดความสงสัยคลางแคลงใจ ถึงแม้ว่าทนายความจะบอกว่า คงไม่มีปัญหาในการจะขอหย่าครั้งนี้ เพราะเอกสารหลักฐานของเธอมีครบ เขาดำเนินการให้ลูกค้ามากมายมาก่อน แต่ที่ต่างไปคือ ยังไม่เคยมีลูกค้าวัยเกือบ 70 ปี ที่ต้องการฟ้องหย่ามาก่อน
“ดร.แอน” หัวเราะแล้วตอบกลับว่า
“คุณหมายความว่าดิฉันมาช้าไปหน่อยใช่ไหม ไม่เป็นไร สำนวนไทยบอกว่า มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มาเลยใช่ไหม?”
เธอทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาว่า “ฉันและสามีพบกันระหว่างเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นนักศึกษาไทยเชื้อสายจีน ที่ได้ทุนไปเรียนระดับปริญญาตรี ส่วนฉันและครอบครัวอาศัยอยู่ในรัฐนั้น ฉันไม่รู้เรื่องประเทศไทยเท่าไร แต่เขาก็ดูเป็นผู้ชายที่ดี มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียนดี พอเรียนจบเขาขอแต่งงาน ฉันก็ตกลง...ถามว่ารักกันไหม ตอนนั้นก็เชื่อว่าเรารักกันนะ ฉันไม่มีใคร เขาก็ไม่มีใคร หลังจดทะเบียนเราก็ตกลงใจจะอยู่ทำงานในอเมริกาต่อไปก่อน เพื่อจะได้เรียนปริญญาโทต่อ ฉันได้งานสอนครึ่งเวลา เป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ส่วนเขาได้งานขายของที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งฉันจะช่วยเขาในเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษ เราตกลงที่จะยังไม่มีบุตร ตั้งใจว่าจะเรียนให้จบก่อน
เริ่มตั้งแต่เรียนปริญญาโทนี่แหละที่ฉันได้กลายเป็น “ความสะดวกใกล้มือ” ของเขาในการเรียน การทำรายงานตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ด้วยกันจนจบปริญญาโท ฉันพูดได้เต็มปากว่า ฉันช่วยเขาทุกอย่างจนเรียนจบไปด้วยกัน ถึงตอนนั้นเราก็ตัดสินใจที่จะเรียนให้จบปริญญาเอกต่อ เขาบอกว่า ปริญญาเอกจะช่วยให้ได้งานดี โดยเฉพาะงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ฉันก็ช่วยเขาต่อ เพราะไม่เพียงเพราะอังกฤษเป็นภาษาของฉันโดยตรง แต่ฉันเป็นผู้ที่ชอบการค้นคว้า วิจัย และถนัดในการเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างสละสลวยและมีประสิทธิภาพ ระหว่างนั้นฉันได้งานเป็นนักวิชาการ ที่องค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก เมื่อเรียนจบได้บรรจุและเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติประเทศไทย เขาก็กลายเป็นผู้ติดตามของฉัน และแน่นอน ฉันกลายเป็นผู้ช่วยทำให้งานและการศึกษาของเขาประสบผลสำเร็จตลอดมาตั้งแต่เริ่มต้นจนทุกวันนี้”
เธอเล่าต่อไปว่า
“เมื่อเราตกลงย้ายกลับประเทศไทยเพื่อสร้างครอบครัว ในฐานะคนอเมริกันที่แต่งงานกับคนไทย สามีไทยก็คือเพื่อนคนเดียวที่ใกล้ชิดสนิทที่สุด ฉันได้งานที่มีรายได้สูง ส่วนเขาเข้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ มีตำแหน่งหน้าที่ที่ดี เราต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเงินเดือนของฉัน สามารถให้ความสะดวกสบายแก่เราทั้งครอบครัวได้ ตอนนั้นเองที่ฉันตั้งครรภ์ลูกคนแรกและคนเดียวของเรา ปัจจุบันลูกชายอายุเกือบ 40 ปี ยังทำงานและเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา
ความจริงชีวิตของเราน่าจะเป็นสุขดี เขาเก่งในเรื่องการพูดจา สามารถทำให้คนทั่วไปเชื่อมั่นศรัทธา ในขณะที่ฉันเป็นผู้หญิงสงบเสงี่ยม ไม่พูดมาก ชอบงานเขียน งานวิจัย และสะสมข้อมูลเพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา ความชำนาญของฉันจึงช่วยสามีได้ในทุก ๆ ทาง แม้ฉันจะรู้ว่าลึก ๆ แล้วเขาไม่ปลื้มนัก หากใครจะรู้ว่า ฉันคือผู้อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของเขา ในขณะเดียวกันฉันก็ต้องจำกัดขอบเขตการทำงานของตนเองให้อยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เขาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่เป็นไรสำหรับฉัน เพราะฉันเข้าใจความรู้สึกของเขา หลายครั้งที่เขา “หลุด” พูดออกมาเป็นเชิงประชดว่ามากกว่าจะเป็นการพูดชมหรือยกย่อง“โครงการอะไร ๆ ก็เธอเขียนทั้งนั้น ไม่มีผลงานของฉันเลย!”
ในน้ำเสียงของเขานั้น ฉันสัมผัสถึงความรู้สึกอิจฉา กึ่งอับอาย และความรู้สึกเป็นปมด้อย ที่เขาต้องพึ่งฉัน แต่ฉันก็ให้กำลังใจ ปลอบใจเขาเสมอว่าไม่ต้องคิดมาก เป็นสามีภรรยาก็ต้องช่วยกัน แต่สามีดูเหมือนจะทำใจไม่ได้ อาจเพราะเขาเกิดและเติบโตมาในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะปานกลาง มีพี่น้องหลายคน พ่อแม่ไม่สามารถส่งเสียให้เรียนสูง ๆ ได้ ทุกคนต้องช่วยเหลือตนเอง และก็กลายเป็นการแข่งขันกันโดยไม่รู้ตัว ในความสัมพันธ์ระหว่างเราสองคน จึงเหมือนเขาติดค้างอยู่กับการแข่งขันว่าใครเก่งกว่าใคร ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงอย่างฉันก็เหมือนผู้หญิงไทยทั่วไปคือ รักสงบ ไม่มีปากมีเสียง นอบน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพไม่ก้าวร้าว พร้อมจะยอมฟังประนีประนอม ไม่ถือสา แม้ว่าเขาจะเพิ่มความก้าวร้าวรุนแรงทางวาจาคำพูด ยกตนอวดตัวว่าเก่งเหนือกว่า พยายามจะ “รวบ” เอาผลงานของเราไปเป็นของเขาคนเดียว โดยเฉพาะเมื่อฉันเกษียณอายุก่อนเวลา ส่วนเขาได้เปิดบริษัทส่วนตัวทำธุรกิจ แม้จะยังรับราชการอยู่ก็ตาม เงินแต่ละเดือนที่เขาโอนให้ผ่านทางธนาคาร คือค่าบริหารจัดการสำหรับแม่บ้าน คนรถ ค่าอาหาร น้ำ ไฟ บิลต่าง ๆ สำหรับเราสองคน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัวของฉันก็ยังคงเป็นเงินส่วนตัวที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของฉันที่ผ่านมา
เกือบ 15 ปี มาแล้วที่เขาซื้อ “โฮมออฟฟิศ” เพื่อเปิดบริษัทขายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยเขาย้ายออกไปพักอยู่ชั้นบนสุดสำนักงาน เรียกว่าแยกบ้านออกไป ส่วนเขาจะอยู่กับใครหรือมีเมียน้อยหรือไม่ ฉันไม่สนใจ สิบกว่าปีที่ผ่านมาเขาทิ้งให้ฉันอยู่ตามลำพังกับแม่บ้านที่บ้านเดิม เขาจะแวะเวียนเข้ามาเพื่อนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาส่งให้แม่บ้านซักรีดทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะการเขียนรายงานการวิจัยหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เขาจะเรียกใช้ฉันอย่างไม่เกรงใจ ฉันต้องหยุดทุกอย่างหากมีนัดกับเพื่อนข้างนอกก็ต้องเลิกนัด เพื่อจัดเวลาในการช่วยหรือทำงานให้กับเขา ฉันจะไปไหนยังไม่ได้หากงานของเขายังไม่เสร็จ และนั่นแหละที่เขาจะใช้เป็นข้ออ้างในการพูดจาถากถาง ว่าเขาจ้างฉันเป็นแม่บ้านและเลขา นั่นคือค่าจ้างของฉันที่เขาให้ เขาเป็นคนทำมาหากิน เป็น “นาย” ของบ้านของครอบครัว ส่วนฉันไม่ได้ทำอะไร!
จริงอยู่เขาไม่ได้ทุบตีทำร้าย แต่...ในแต่ละครั้งแต่ละวันที่เขาทำร้ายจิตใจด้วยวิธีที่เหมือน “จิกใช้” คุกคามเหยียดหยามดูถูก ทำให้รู้สึกเหมือนตนเองไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่ได้รับการเคารพยกย่อง และนั่นอาจเป็นการกระทำเพื่อทำให้เขารู้สึกว่า “เขาเหนือกว่าฉัน” โดยเฉพาะการที่ฉันไม่มีเครือญาติที่ไหน ไม่กล้าปรึกษาผู้ใด กว่า 40 ปี ของการใช้ชีวิตในเมืองไทย ฉันก็หวังจะฝากฝังชีวิตไว้ที่นี่ พ่อแม่เครือญาติในอเมริกาก็เริ่มตายจากไป ฉันเองก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน ส่วนลูกชายก็อาจกลับมาเมืองไทยในอนาคต ฉันไม่รู้ว่าเขาจะคิดอย่างไรที่ฉันจะหย่าสามี”
ในความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับลูกชาย เธอบอกว่า “ไม่ค่อยสนิทกันเพราะพ่อมักดุด่า ก้าวร้าวข่มขู่เหมือนเขาเป็นเด็กไม่เอาไหน ไร้สาระ ถ้าไม่มีเรื่องจำเป็นจริง ๆ ลูกก็จะไม่พูดหรือปรึกษาพ่อ ก็เหมือนกันคือเขาทำให้ลูกรู้สึก “ด้อยกว่าเขา” “โง่กว่าเขา” ฯลฯ เขาไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตนเองหรือภูมิใจในตัวพ่อ ฉันก็ไม่เคยพูดหรือปรับทุกข์เรื่องนี้กับลูก คงปล่อยไปเหมือนกับไม่เป็นไรเดี๋ยวก็ดีเอง ไม่เคยปกป้องหรือทำให้ลูกและพ่อเป็นศัตรูกัน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ลูกออกจากบ้านไปเรียนต่อที่อเมริกา แล้วไม่เคยพูดเรื่องกลับมาเมืองไทย ถึงแม้เขาจะแต่งงานอยู่กินกับเพื่อนนักศึกษาไทย
ครั้งหนึ่งครอบครัวฝ่ายหญิงเคยนัดมารับประทานอาหารกับเรา แต่เห็นได้ชัดว่าทุกคนอึดอัด ไม่กล้าพูดหรือสบตากับสามีฉันตรง ๆ ได้แต่ก้มหน้าก้มตากิน ในขณะที่สามีก็เอาแต่พูดโอ้อวด ส่งเสียงดังฟังชัด หากใครขัดคอไม่เห็นด้วย เขาก็จะส่งเสียงโวยวายพูดข่มทำให้คนนั้นต้องอับอาย”
นั่นแหละ คือลักษณะนิสัยของคนไทยมากมายที่ปล่อยวาง เพราะกลัวเกรงไม่กล้าโต้แย้งกับคนที่มีลักษณะก้าวร้าว ชอบคุกคามข่มขู่ด้วยกิริยาวางโต ได้แต่วางเฉยทำให้เขาได้ใจ คนประเภทนี้จะอยู่ในสังคมไทยได้ด้วยการอวดตัว ข่มเหงผู้อื่น ทำเหมือนเป็นผู้ชนะเหนือใครเสมอ ๆ และทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกว่าเป็นผู้แพ้หรือยอมแพ้ต่อความหยาบคายกักขฬะของเขา!
แหละนั่นอาจเป็นเหตุผลเดียว หรือเหตุผลทั้งหมดสำหรับผู้หญิงวัยเกือบ 70 ปี ที่ยอมอยู่กินกับสามีมาด้วยความอดทนอย่างแสนสาหัสในทุก ๆ เรื่องของชีวิต ตลอดกว่า 40 ปี ด้วยการ “ยอมรับ” ความเป็นผู้ด้อยกว่า เพื่อทำให้สามีรู้สึกดีต่อตนเอง ด้วยความหวังว่า เขาจะหันมาดีให้เกียรติเราอย่างที่เราให้เกียรติเขา แต่ก็กลายเป็นเรื่องของความผิดพลาดสำหรับผู้หญิงอย่างเราอย่างมาก เพราะดูเหมือนเราจะไม่มีวัน ที่จะเปลี่ยนแปลงเขาได้
“ความพยายามของฉันได้มาถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นการ “หย่า” ก็เหมือนเป็นเพียงการ “กระตุกเชือก” เพื่อให้เขาได้หันกลับมามองเราในฐานะของคนคนหนึ่งซึ่งมีศักดิ์และศรี มีเกียรติที่เขาควรจะต้องให้การเคารพและยกย่องในฐานะภรรยา และในฐานะของผู้หญิงที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนเขา ช่วยเหลือเขาเสมอมา”
ดร.แอน เปิดรอยยิ้มอิ่มเอมน้อย ๆ ก่อนจะจบเรื่องราวของเธอว่า “เขาคงตกใจหรือช็อค เมื่อได้รับหมายศาลที่รับคำร้องฟ้องหย่าของฉัน สุดท้ายชีวิตและจิตวิญญาณของฉันก็จะได้เป็นอิสระ ฉันจะได้ศักดิ์ศรีของฉันคืนมา ไม่ต้องทนอยู่กับสามีหรือผู้ชายที่ไม่เห็นคุณค่าของฉันต่อไป ก็ในเมื่อเขามีเราเป็นภรรยา เป็นเพื่อนที่แสนดีของเขา แต่เขากลับไม่เห็นคุณค่าของเรา เขาก็ไม่ควรจะมีเราต่อไป
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไม ฉันต้องหย่า!”