มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

กระจกส่องใจ ทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ (ตอนที่ 1)

14 ธันวาคม 2563
กระจกส่องใจ ทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ (ตอนที่ 1)

สำหรับบุคคลที่กำลังศึกษาวิชาจิตวิทยาสาขาการให้คำปรึกษาแนะนำ หรือ Counseling และหรือนักสังคมสงเคราะห์ และหรือครูแนะแนว ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับเยาวชน เริ่มต้นครูอาจารย์ผู้สอนก็มักจะบอกว่า “ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำนั้น ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกเงา ที่สะท้อนกลับให้ผู้มาปรึกษาได้แลเห็นตนเองทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำของเขาเองผู้ศึกษาส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ   รู้สึกสงสัยว่า “จะเป็นไปได้อย่างไร และทำไปเพื่ออะไร?

ทำไปเพื่ออะไร? จากประสบการณ์ของนักวิชาชีพที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ พบว่าผู้มีปัญหาส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาของตนเอง และรู้ถึงทางออกของปัญหาว่าเขาจะต้องทำอะไรต่อไป แต่มากมายไม่แน่ใจ  ต้องการกำลังใจ  ต้องการรู้ว่า คนอื่น ๆ  คิดอย่างไร และหากมีปัญหาเหมือนเขา  คนเหล่านั้นจะเลือกทางออกใด  เหมือนเขาหรือไม่  และที่สำคัญ  สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหายิ่งใหญ่นั้น  คนอื่น ๆ เห็นเหมือนเขาหรือไม่?

ผู้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ มักคิดเข้าข้างตนเองว่าถูกต้อง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของฝ่ายตรงข้าม   แต่ลึก ๆ แล้วเขาไม่แน่ใจและอยากให้มีคนยืนยันว่า ความคิดและการกระทำของเขานั้นถูกต้องหรือไม่ คนอื่นคิดอย่างไร  ซึ่งคนอื่นในที่นี้อาจเป็นเพื่อน เครือญาติหรือคนรู้จักคุ้นเคย ซึ่งอาจมีความรักใคร่เกรงใจไม่อยากให้สะเทือนใจ จึงระมัดระวังที่จะไม่พูดอะไรที่ทำร้ายจิตใจผู้มีปัญหา แต่การไปพบนักวิชาชีพด้านจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นคนอื่น มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น นักวิชาชีพจึงสามารถตอบคำถามหรือสะท้อนความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของผู้มาปรึกษาได้อย่างตรงไปตรงมา  ซึ่งจะทำให้ผู้มีปัญหามองเห็นและตระหนักว่า ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการทำให้เกิดปัญหามากน้อยแค่ไหน  ที่สำคัญคือปัญหานั้น  ๆ  หรือพฤติกรรมของผู้มาปรึกษา ส่งผลกระทบต่อตนเองและคู่กรณีอย่างไรบ้างเช่นกัน

นั่นหมายความว่า คนกลางหรือผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือนักวิชาชีพด้านจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น อาจสะท้อนความจริงซึ่งอาจขัดแย้งกับความคิด ความต้องการของผู้มาปรึกษา แต่คนกลางมองเห็นพฤติกรรมและการกระทำเป็นอย่างไร ก็สะท้อนความเป็นจริงออกมาให้ปรากฏเฉกเช่นเงาสะท้อนจากกระจกเงาฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนผู้มาปรึกษาจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ทักษะการสะท้อนอารมณ์และความรู้สึก จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ จึงต้องมีความชัดเจน ซื่อตรงต่อหน้าที่และวิชาชีพของตนเอง โดยไม่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ให้บริการปรึกษาแนะนำ

อย่างไรก็ตาม การฝึกความเป็นกลางและชัดเจนในการใช้ทักษะการสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้บริการกลับไป 

ให้แต่ละคนมองเห็นตนเองได้ชัดเจน  นอกจากจะช่วยผู้ใช้บริการให้ได้เรียนรู้จักตนเองมากขึ้นแล้ว การที่ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำเข้าใจถึงหน้าที่ในการเป็นกระจกเงาส่องใจผู้คนแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่ต้องแบกรับภาระและปัญหาของผู้มาปรึกษาเอาไว้ ด้วยตระหนักในความหมายของกระจกเงาไว้ดังนี้

 

กระจกส่องใจ

 

กระจก.....ไม่เลือกที่จะสะท้อนภาพทุกชนิด  ฉันใด

จิตใจ.....จงเอาเยี่ยงอย่างกระจก

กระจก.....รับรู้  แต่ไม่ยึดถือครอบครอง

ดังนั้น.....จึงไม่มีภาพใดใดหลงเหลือติดอยู่ในกระจก

สายฝน.....ในกระจก  หาได้เปียกกระจกไม่

เปลวไฟ.....ในกระจก  ก็หาได้เผาลนกระจกไม่

ทั้งนี้.....เพราะกระจกไม่ให้อำนาจแก่สายฝน  และเปลวไฟ

จงทำจิตใจของท่านให้เป็นดุจการรับรู้ของกระจก เพราะถ้าหากจิตของท่าน หลงยึดถือหรือตกเป็นทาสของกิเลสเมื่อใด ความทุกข์ ความเศร้าหมองใจย่อมตามมา เมื่อนั้น

นี่คือ มรรควิธีแห่งการเพ่งพิจารณาและรับรู้สรรพสิ่งด้วยใจที่สงบบริสุทธิ์ ว่างเปล่าจากการปรุงแต่ง  เพื่อปลดปล่อยจิตใจให้ว่างเปล่า  หลุดพ้นไปจากภาพมายาธรรมต่าง ๆ ที่คอยฉุดรั้ง หลอกลวงจิตไม่ให้เห็นถึงความจริง ซึ่งจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นจากการยึดติดในสิ่งทั้งปวง เปรียบเสมือนกระจก ฯ                                                                         

                                                                                     (คุณทัสสี   ภิกขุ)

 

จะเห็นว่า หลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากความหมายที่ท่านผู้ทรงศีล “คุณทัสสี  ภิกขุ” ได้อธิบายถ่ายทอดถึงการฝึกจิตไว้นี้  ไม่ต่างจากการทำงานของนักวิชาชีพด้านสังคมจิตวิทยา ซึ่งจะต้องได้พบได้รับฟังปัญหาของผู้คนมากมาย จึงจำเป็นต้องปล่อยใจว่าง ฝึกให้จิตเป็นกลาง ไม่ยึดติดในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เปรียบเป็นเช่นกระจกเงา แม้สะท้อนเปลวไฟหรือสายฝน ย่อมไม่ทำให้กระจกเงานั้นเปียกน้ำหรือถูกแผดเผาด้วยเปลวไฟได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

จากประสบการณ์ทำงานเป็นนักวิชาชีพให้บริการปรึกษาแนะนำ  เพื่อน ๆ เครือญาติและผู้คนที่รู้จัก  มักจะถามว่า “ทำหน้าที่รับฟังปัญหาผู้คนมากมาย จะไม่ทำให้เราต้องมีความเครียดหรือทุกข์ไปกับผู้มาปรึกษาหรือ?” เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าเราจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ในฐานะของนักวิชาชีพ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะฝึกใจตนเองให้ได้เปรียบดังกระจกเงาที่สะท้อนทุกอย่างออกไปไม่เก็บไว้กับตัว  แต่ช่วยให้ผู้มีปัญหาสามารถมองเห็นตัวของเขาได้ชัดเจน  ตัวอย่างกรณีนี้

“ผมมีแฟนมาหลายคนครับ แต่ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเดี๋ยวนี้หาผู้หญิงที่บริสุทธิ์ยากเหลือเกิน จนมาวันหนึ่งผมเจอผู้หญิงคนหนึ่ง  ดูท่าทางเธอเรียบร้อยมากเลยครับ  ผมก็เลยเริ่มจีบเธอ เธอดูอ่อนหวานนิ่มนวลมากจนทำให้ผมมั่นใจว่าคนนี้แหละที่ใช่แน่นอน! เราคบกันมาหนึ่งปี เธอก็สงวนทีท่ามาโดยตลอด จนมีอยู่วันหนึ่งเราก็ไปเที่ยวค้างคืนด้วยกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของเรา ผมกะจะไม่ทำอะไรเธอแล้ว แต่สุดท้ายก็พลั้งพลาดจนได้ครับ จึงทำให้ผมรู้ว่าเธอไม่บริสุทธิ์ เพราะรู้สึกว่าหลวมมาก และในที่สุดเธอก็สารภาพกับผมว่า เธอเคยมีแฟนมาแล้วถึงสามคน ผมเลยคิดไม่ตกและเครียดว่า ผู้หญิงสมัยนี้ ผู้หญิงดี ๆ หายไปไหนหมดครับ ผมอยากได้แฟนที่บริสุทธิ์เพื่อมาเป็นแม่ของลูกมาก ผมควรหาได้ที่ไหนครับ ผมมีแฟนมาหลายคนครับ แต่ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ผู้หญิงที่บริสุทธิ์หาได้ยากจริง ๆ!

จากปัญหาที่ปรึกษาผ่านทางเว็บไซด์มาโดยชายหนุ่มคนนี้  คนที่อ่านเนื้อเรื่องแล้วก็อาจจะรู้สึกเหมือน  ๆ กัน เขาคิดว่าผู้หญิงดี ๆ คือผู้หญิงที่บริสุทธิ์ยังไม่เคยเสียพรหมจรรย์จนคืนวันแต่งงาน ซึ่งในอดีตอาจเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัวจนกว่าจะได้แต่งงานกับคนที่เธอรักใคร่หรือพ่อแม่เลือกให้ ผู้หญิงในอดีตไม่มีทางเลือกนักเพราะการศึกษาน้อย  ไม่มีงานทำพึ่งตนเองไม่ได้  แต่งงานแล้วก็ได้ชื่อว่าสามีเป็นเจ้าของชีวิต  ในขณะที่ผู้ชายจะเกี่ยวข้องหรือผ่านผู้หญิง และมีเมียเก็บซ่อนไว้ จะกี่คนก็ได้ไม่เสียหาย  แต่ชีวิตในสังคมหรือในโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงมีการศึกษาสูงมีงานการทำพึ่งตนเองได้ มีสิทธิ์เลือกเป็นเลือกทำและเลือกคู่ที่ตนเองพอใจได้ ที่สำคัญคือเธอตระหนักในความจริงที่ว่า “ผู้หญิงดีไม่ได้อยู่ที่พรหมจรรย์ หรือการจะเป็นแม่ที่ดีของลูกนั้น ไม่ใช่เพราะเธอเป็นสาวบริสุทธิ์!” 

ผู้หญิงสมัยใหม่สามารถแยกแยะได้ว่า ความต้องการทางเพศหรือความต้องการเซ็กซ์ เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนในร่างกาย เธอเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ตามความต้องการตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่า เธอจะเลือกชายคนนั้นเป็นคู่สมรสเสมอไป เธอเสี่ยงเพื่อให้ได้ชายที่เธอถูกใจเท่าที่สิทธิ์ในการเลือกคู่ครองเป็นของเธอ   เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ที่ชายหนุ่มพูดเหมือนว่า เธอไม่ใช่ผู้หญิงที่อยู่ในข่ายที่เขาจะเลือกเป็นคู่ครอง เช่นกัน เขารู้หรือไม่ว่าฝ่ายหญิงก็อาจไม่สนใจจะเลือกเขาเป็นคู่เช่นกัน หลังจากคืนนั้น และหลังจากที่คบหากันต่อไป เธอก็จะยิ่งรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขามากยิ่งขึ้น

จากที่เขาแสดงความคิดเห็น ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำสามารถสะท้อนให้เขาได้ก้มลงมองตนเอง ว่า  เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า เขาเป็นผู้ชายที่ไม่ตระหนักและไม่เคารพสิทธิสตรี เขามีความเชื่อแบบไทยโบราณว่า  ผู้ชายทำอะไรไม่เสียหาย จะผ่านผู้หญิงมาสักกี่คนไม่เป็นไร แต่เขาต้องการแต่งงานเฉพาะกับผู้หญิงบริสุทธิ์เท่านั้น หากผู้ชายทุกคนในประเทศนี้คิดได้อย่างเขา ก็แน่ใจได้เลยว่า จะไม่เหลือผู้หญิงพรหมจรรย์ให้เลือกหรอก เพราะผู้ชายไทยประเภทเขานั้น ได้ชื่อว่า “เจอผู้หญิงคนไหน ก็ฟันดะ!” ดังที่เขาเล่ามา

ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ  ความคิดหรือทัศนคติเช่นนี้แหละ ที่นำไปสู่พฤติกรรมทางเพศของผู้ชายในการ  ชอบที่จะฉวยโอกาส เอาเปรียบผู้หญิงในหลายรูปแบบ เพราะรู้ว่าเพศหญิงอ่อนไหว อ่อนแอ หากพลาดพลั้งไปก็ไม่กล้าจะเอาความเพราะมีความอับอาย ยิ่งทำให้ผู้ชายมากมายได้ใจ และหากเขายังต้องการที่จะให้สังคมนี้  มีผู้หญิงบริสุทธิ์เหลืออยู่ให้มาก ตัวเขาในฐานะเพศชาย ก็น่าจะเริ่ม ลด ละ เลิก พฤติกรรมเอาเปรียบทางเพศจากฝ่ายหญิงเสีย และหันมาเคารพในสิทธิความเสมอภาคระหว่างหญิงชายให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้อยู่กันร่วมกันอย่างสันติสุข และหากเป็นไปได้ เขาก็ควรรักษาพรหมจรรย์ของตนเองเอาไว้ เช่นเดียวกับที่เขาคาดหวังจากฝ่ายหญิง


กลับด้านบน