มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) พรานล่าเนื้อ

15 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง  (ตอน) พรานล่าเนื้อ

“ปัจจุบันอายุ  33  ปี ค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว มีรุ่นน้องที่ทำงานคนหนึ่งอายุ  25 ปี  เป็นผู้ชาย  ทำงานร่วมกันมาตลอดปี พอดีน้องคนนี้ได้งานใหม่จึงลาออกจากงาน  แต่ยังมาทำงานอยู่เพราะเป็นเดือนสุดท้าย ระหว่างนี้เขาได้ชวนเราไปทำงานที่ใหม่ด้วยกัน เราเองก็เบื่องานที่ทำอยู่ จึงสนใจ  เขาให้ที่อยู่บริษัทจัดหางานให้เราไปติดต่อ  และแม้จะไม่ได้งานใหม่  แต่เนื่องจากรู้สึกขอบคุณเขาอยู่  จึงเริ่มติดต่อกันนอกเวลางาน  จากนั้นเขาก็ชวนไปดูหนังและไปเที่ยว  เราเองก็โสดจึงไปไหนมาไหนได้ตามสะดวก ก็เลยได้ไปด้วยกัน


หลังจากนั้นเวลาอยู่ด้วยกันตามลำพัง  เขาก็มักจะฉวยโอกาสอยู่เสมอ ส่วนตนเองนั้น  เป็นเพราะความอยากรู้ มันเป็นยังไง  จึงยอมให้เขาล่วงเกิน  แต่ก็เป็นเพียงภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ยอมให้มากกว่านี้  จนวันหนึ่งเขาก็ทำอะไรเราจริง ๆ เราพยายามจะขัดขืนแต่ไม่อาจสู้แรงและประสบการณ์ของเขาได้


หลังจากวันนั้น  เขาก็ไม่โทรมาหาอีก  ถ้าเราโทรไปก็อาจจะมารับบ้าง ไม่รับบ้าง  จนเราโทรไปบอกว่า  ต้องการจะคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น  แต่เขาก็ไม่ยอมรับสายและไม่เคยโทรมาหาอีกเลย  เราเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก  เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน แถมเป็นคนที่รู้จักกันมาตั้งเป็นปี ๆ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถจะปรึกษาใครได้  ทั้งคนที่บ้านและเพื่อน ๆ เพราะทุกคนรู้ว่าเราไม่เคยข้องแวะกับใคร  จึงไม่กล้าปรึกษาใคร  แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบปีแล้ว  แต่เราก็ยังคงเสียใจกับเรื่องนี้ ไม่อาจจะเรียกร้องกับใครได้  เราต้องทิ้งงานที่ทำอยู่ไปหางานอื่นทำ เพื่อให้ไกลจากสถานที่เก่า ๆ และเหตุการณ์เก่า ๆ  ส่วนเขากลับมีชีวิตที่มีความสุข  ลืมสิ่งเลวร้ายที่ทำกับผู้หญิงคนหนึ่ง ไปมีผู้หญิงอื่นอีกมากมาย


ที่เขียนมานี้เพราะอยากระบายความทุกข์ในใจที่มันเกิดขึ้นแต่หาทางออกไม่ได้ และยังคงเจ็บปวดกับมันอยู่  หากเราเป็นคนชอบเที่ยวเตร่มีอะไรกับใครไปทั่ว  ก็คงจะไม่รู้สึกอย่างนี้  บางครั้งคิดมาก  และหดหู่ ได้แต่โทษตนเองว่าเป็นเวรเป็นกรรมของเรา อยากจะหยุดคิดอย่างนี้สักที  อยากจะมีความสุขเหมือนวันเก่า ๆ จะต้องทำอย่างไรคะ  และหากในอนาคตเกิดมีใครเข้ามาในชีวิตของเรา  เขาจะรู้ไหมคะว่าเราไม่บริสุทธิ์แล้ว หรือเราควรจะบอกเขาให้รู้เอง  ช่วยแนะนำด้วยค่ะ”

 

ถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย จะไม่ได้จารึกชื่อนักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษไทยไว้ให้จดจำ  แต่คนไทย สังคมไทย  ครอบครัวไทยก็ได้เรียนรู้จักจิตวิทยาผ่านทางการใช้ภาษาไทยในวรรณคดีไทยที่มีอยู่มากมาย และที่สำคัญคือการอบรมสั่งสอนผ่านทางความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา  เช่น พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ  ทรงสอนว่า “คนเรานั้น  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว...”  แต่คนมากมายก็มักจะโต้แย้ง  “คนทำดีไม่ได้ดี  แต่คนชั่วทำชั่วกลับได้ดีมีถมไป!” ก็เป็นเรื่องจริงเช่นกันที่เราเห็นคนดี  ๆ  มากมายต้องพ่ายแพ้แก่ความชั่วของบางคน  ถึงกระนั้น  พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้อริยสัจ 4   ทรงสอนพวกเราคนพุทธให้ตระหนักว่า  การเกิดเป็นมนุษย์นั้นย่อมประกอบด้วย  การเกิด แก่ เจ็บ  และตาย  บนเส้นทางชีวิตมีแต่ ทุกข์  สมุหทัย  นิโรธ  และมรรค  ความทุกข์เป็นผลแห่งการกระทำ (สมุหทัย) ของเราทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน หากมนุษย์ไม่ต้องการความทุกข์  ต้องการจะพ้นทุกข์ ก็ต้องแก้ไข (นิโรธ) ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมปัจจุบันของตนและฝึกฝนปฏิบัติแต่ความดีตามวิถีแห่งมรรค 8


ที่สำคัญ   พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับให้พวกเราต้องเชื่อตามที่พระองค์ทรงสอนไว้  แต่ทรงตรัสว่า  “...ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้  ล้วนมีเหตุผลในตัวของมันเองเสมอ หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนคือ  ศึกษา  ค้นหาเหตุผลนั้น ๆ แล้วจึงค่อยเชื่อ”  กว่า 2,500 ปี ที่ศาสนาพุทธดำรงคงอยู่  ฝังรากฐานถ่ายทอดความรอบรู้และประสบการณ์ในความเป็นมนุษย์ เพื่อจรรโลงความดีงามและความเจริญรุ่งเรื่องให้แก่มนุษยชาติบนโลกนี้สืบต่อไป  และแม้ผู้คนในทวีปอาเซียจะเหนียวแน่น ฝังรากลึกในความเป็นพุทธศาสนิกชน  ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่เนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ ทางพุทธศาสนามักจะถ่ายทอดผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก  หรือการบันทึกข้อความในพระไตรปิฎกสำหรับประชาชนผู้สนใจจะศึกษาเล่าเรียน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถจะเข้าถึงบทเรียนเหล่านั้นได้  การเรียนรู้ผ่านทางผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส   ตลอดจนบทประพันธ์ในวรรณคดีไทย   จึงเหมือนการบอกเล่าเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย  เพื่อให้เนื้อหาสั้น กระชับ แต่เข้าใจง่ายและได้สาระ  เช่น  “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”  หรือ  “เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด”  หรือ  “วัวแก่ชอบกินหญ้าอ่อน”  หรือ “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า  ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” หรือ “กินน้ำใต้ศอก”  และอีกมากมายที่การพูดเปรียบเทียบง่าย ๆ  สั้น ๆ สามารถให้ความหมาย ขยายความได้หลายหน้ากระดาษ สำนวนเปรียบเปรยเหล่านี้เองที่ซ่อนอยู่ใน “ภาษาไทย”  ของเรามาเป็นพันปี  โดยที่เราไม่ต้องไปสร้างหรือกำหนดทฤษฎีที่ไหน  เพราะนี่คือจิตวิทยาในภาษาไทยของสังคมไทยนั้นเอง


กรณีปัญหาของหญิงสาววัย   33  ปี คนนี้  เธออยู่ในวัยที่น่าจะมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่พอจะประเมินสถานการณ์ตรงหน้าได้บ้าง  ในอดีตพ่อแม่ผู้ใหญ่จะสอนว่า  “รู้หน้า ไม่รู้ใจ”     หมายความว่า  เห็นหน้าตาเขาดีพูดจาดี อย่าเพิ่งไว้วางใจ เราไม่รู้เขาคิดอะไรอยู่ในใจ  แต่เธอรู้สึกว่าเขาดีกับเธอ  พยายามสนับสนุนให้เธอหางานใหม่ ทั้ง ๆ ที่เขาลาออกจากงานแล้ว แต่ก็ยังกลับมาแสดงความเป็นมิตรด้วย และเพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อนเป็นปี เธอจึงเชื่อใจให้ความไว้วางใจ เขาชวนไปไหนเธอก็ไปด้วย ไม่ทันเฉลียวใจว่าเขาคิดอะไร เหตุการณ์เช่นนี้คนโบราณจะแนะนำเพื่อความปลอดภัยว่า “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง...” 


ที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่ยังไม่ได้คบหาเป็นคู่รักกันจริงจังกับเขา เธอต้องมีความระมัดระวังไม่ให้เขาล่วงเกิน  ฉวยโอกาสหรือพยายามเอาเปรียบทางเพศกับเธอ เธอสามารถจะปฏิเสธเขาตรง ๆ และบอกเขาว่าเธอไม่ชอบไม่พอใจพฤติกรรมของเขา อย่าทำ! แต่อาจเพราะเธอยังไม่เคยมีแฟน ไม่มีประสบการณ์  และด้วยความอยากรู้อยากเห็น นำพาให้เธอขาดความสำรวม ปล่อยตัวปล่อยใจให้เขาล่วงเกิน ด้วยความคิดที่ว่า  หากเขาพยายามจะขืนใจเธอ เธอจะเอาตัวรอดได้ นี่เป็นความประมาทที่นำเธอไปสู่ความพลาดพลั้งที่ผู้ใหญ่มักสอนว่า  ความประมาทเป็นหนทางไปสู่ความตาย!

ถึงตรงนี้ เธอได้ตระหนักแล้วว่า ผู้ชายคนนี้มีเจตนาเข้ามาเพื่อหลอกลวงและปล้นความสาวของเธอ  เธอรู้สึกอับอาย โดยเฉพาะอายตัวเองที่โง่เขลาเบาปัญญาปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้กับตัวเองได้อย่างไร  ทั้งที่ผ่านมาทำตัวดีมาตลอด  เธอรู้สึกทุกข์ใจเสียใจ  เจ็บใจ ผิดหวัง  โกรธแค้น  การกระทำของเขาที่ทำให้เธอรู้สึกตัวเองต่ำต้อยด้อยค่า  ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ริมทาง  คนเดินผ่านมาเด็ดมาชมเชยแล้วก็โยนทิ้งไปอย่างไม่ใยดี  แต่...ไม่ว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร  เธอก็ไม่กล้าบอกเล่าปรึกษาปรับทุกข์กับใคร  นอกจากซมซานลาออกจากงานเหมือนเป็นการลงโทษตนเอง  ที่เจ็บปวดสำหรับผู้หญิงทุกคนซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างจาก “เหยื่อ”  คือความรู้สึกของคนที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาตอบโต้  ต่อสู้เพื่อปกป้องและเรียกศักดิ์ศรีของตนคืนมาได้ เธอทำได้เพียงทนทุกข์ทรมานอยู่กับความเสียใจ และเจ็บแค้นตนเองเท่านั้น


แน่นอน...ผู้หญิงจำนวนมากมักยอมรับสภาพความพ่ายแพ้ และลงโทษตนเองด้วยการประณามตนเองว่าไร้ค่า เป็นคนไม่ดีเพียงเพราะปกป้องตนเองไม่ได้  การไม่คิดจะให้อภัยตนเอง  เป็นการหล่อหลอมความทุกข์เอาไว้เหมือนโซ่ตรวนทางใจ  แต่หากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่า  ในป่าคอนกรีตแห่งนี้  ในสังคมสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ก็ไม่ต่างจากป่าดงดิบทั่วไป  ผู้คนมากมายไม่ต่างจากพรานล่าเนื้อที่จ้องจะทำร้ายทำลายสัตว์ที่อ่อนแอกว่า   และผู้คนอีกมากมายก็ไม่ต่างไปจาก “เหยื่อ”  ที่พร้อมจะถูกนายพราน “ล่าชีวิต”  เอาง่าย ๆ หากเราไปอยู่ผิดที่  ผิดเวลา...แต่ยังโชคดีที่เธอเพียงบาดเจ็บสาหัส  ไม่ถึงกับเสียชีวิต   และมันไม่เกิดประโยชน์อะไร  ที่จะเรียกร้องขอความเห็นใจจากนายพรานใจร้ายคนนั้น    แต่สิ่งที่เราทุกคนต้องการคือ  “การรู้จักที่จะให้อภัยตนเองในความประมาทพลาดพลั้งที่เกิดขึ้น   การให้อภัยตนเองก็เหมือนการให้อภัยศัตรูคู่แค้นของเรา!


การปลดปล่อยตนเองออกมาจากโซ่ตรวนของความเจ็บแค้น  ก้าวข้ามความทรงจำที่เลวร้ายเพื่อเราจะได้ชีวิตที่เคยดีงามของเราคืนมา  เรื่องเลวร้ายได้เกิดขึ้นแล้ว  และกำลังจะผ่านไป  ไม่จำเป็นจะต้องเกาะเกี่ยวความทุกข์นั้นเอาไว้   ไม่จำเป็นที่เราจะต้องบอกใคร  ปล่อยมันไปกับอดีต และจดจำไว้เฉพาะบทเรียนที่มีค่า  พร้อมบอกกับตัวเองว่า  “...ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตมีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้เสมอ...ที่ผ่านมา  เป็นเพียงราคาค่าโง่ของเราเท่านั้นเอง...”


กลับด้านบน