มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) แม่กับลูกสาว

15 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง  (ตอน) แม่กับลูกสาว

สวัสดีค่ะอาจารย์อรอนงค์ หนูมีเรื่องเรียนปรึกษาอาจารย์ดังนี้  คือ เรื่องมีอยู่ว่าพ่อหนูเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งได้ประมาณหกเดือน หนู พี่สาว และแม่ เสียใจเป็นอย่างมาก ตัวหนูและพี่สาวต่างก็มีครอบครัวแล้ว พ่อได้ทำประกันชีวิตไว้ให้ลูก ๆ แม่หนูก็ได้สมบัติจากยายที่มีฐานะร่ำรวยหลายล้านบาท แต่ตอนนี้เงินหมดลงแล้ว พ่อกับแม่รักกันมาก ๆ ดูแลกันจนถึงวาระสุดท้ายของพ่อ แต่เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากที่พ่อเสีย แม่เริ่มคบกับเพื่อนข้างบ้านคนหนึ่งซึ่งแต่งตัวเก่งมาก และมาสนิทสนมกับแม่หนู พาแม่หนูออกเที่ยวทุกคืนทุกวัน บางทีก็มีค้างนอกสถานที่ จนหนูทราบมาว่าแม่มีผู้ชายคนใหม่แล้ว และขาดการติดต่อ หนูกับพี่สาวไม่ยอมรับในสิ่งที่แมกระทำ เตือนสติแม่ก็แล้ว แม่ไม่ฟังและให้ยอมรับในสิ่งที่กำลังจะเกิด

หนูเสียใจอย่างมาก ไม่คิดว่าแม่จะเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ทั้งการกระทำที่ดูจัดจ้าน คำพูด การแต่งกาย มันไม่ใช่แม่หนูคนเดิม แม่พยายามจะบอกว่าให้ยอมรับ ว่าผู้ชายคนนั้นเป็นคนดี แต่ทราบมาว่าผู้ชายคนนั้นเป็นพ่อหม้ายเมียตาย ลูกเพิ่งเรียนจบปริญญา ซึ่งเคยเป็นเพื่อนแม่มาก่อน หนูบอกกับแม่ว่าถึงหนูตายหนูก็ไม่ยอมรับ และถึงแม่จะตายแล้วมีคนนี้หนูก็ไม่ยอมรับ ตอนนี้หนูติดต่อแม่ไม่ได้ หนูกลัวว่าแม่จะโดนผู้ชายคนนี้หลอก เพราะรู้ว่าแม่หนูมีเงินมาก ชีวิตหนูตอนนี้หนูมีแม่เพียงคนเดียว หนูอยากให้แม่เป็นเสาหลักให้หนูและพี่สาว ไม่ได้ต้องการสมบัติอะไรจากแม่เลย อยากดูแลแม่ อยากให้แม่เป็นกำลังใจให้ในการเริ่มต้นทำมาหากินของหนูและพี่สาว หนูเสียใจและร้องไห้ทุกวัน ตอนหนูเด็ก ๆ แม่รักหนูมาก ตามใจ และฟังหนูทุกอย่าง ตอนนี้แม่เปลี่ยนไปมาก หนูควรจะทำอย่างไรดีคะอาจารย์ หนูสับสนชีวิตมาก ๆ แม่เที่ยวไปพูดให้ใครต่อใครฟังว่าหนูว่าแม่เสีย ๆ หาย ๆ  แต่หนูไม่เคยด่าแม่เลย คนอื่นเข้าใจหนูผิด แม่ทำเเบบนี้เพื่ออะไร หนูเสียใจมากที่สุดเลย”

เป็นเรื่องน่าสนใจหากลูก ๆ ที่โตขึ้นมา แล้วลองหันกลับไปมองวันเวลาที่เติบโตขึ้นภายใต้การปกป้องดูแลของพ่อแม่ โดยเฉพาะกับ “แม่” ของเรา เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าแม่เป็นเจ้าของลูกตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอดออกมาดูโลก ดูเหมือนการที่จะได้ชื่อว่า “เป็น อยู่ คือ” นั่นคือความเป็นตัวตนของเรานั้นได้รับการถ่ายทอดจาก “แม่” ของเรา แม่เป็นผู้สร้างและกำหนดชะตากรรมของเรามากกว่าพ่อหรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เลี้ยงยาก หลังคลอดออกมาอาจมีสาเหตุจากระหว่างอยู่ในครรภ์ แม่มีความเครียดสูง อารมณ์ฉุนเฉียวโกรธง่าย ทำให้เด็กในครรภ์ดูดซับเอาอารมณ์เหล่านั้นเข้าไว้ในตัวด้วย ผู้ใหญ่แต่โบราณหรือนักจิตวิทยาจึงมักแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ฝึกควบคุมอารมณ์ของตนให้ปลอดโปร่ง ใจเย็น อย่าเครียด  พยายามหารูปหรือของสวย ๆ งาม ๆ มาไว้อยู่ในสายตารอบ ๆ ตัวเรา เพื่อรักษาอารมณ์ตนเองให้สดชื่นแจ่มใสเสมอ ๆ  เด็กในครรภ์ก็จะมีอารมณ์แจ่มใสเลี้ยงง่ายไปด้วย

โดยปกติ “มนุษย์” ตั้งแต่เกิดมานั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการโอบอุ้มอุปถัมภ์ค้ำชูดูแลอย่างใกล้ชิดจากมารดา ต่างจากสัตว์โลกอื่น ๆ ที่เมื่อลืมตาดูโลกไม่นานก็สามารถลุกขึ้นเดินวิ่งหาอาหารช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เด็กตัวน้อย หรือมนุษย์ตัวน้อยนั้นยังต้องอาศัยให้พ่อแม่เลี้ยงดูส่งเสียไปจนโต หลายคนอายุเกือบ 30 ปี ก็ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ เพราะฉะนั้นความผูกพันใกล้ชิดหรือความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก  หรือพ่อแม่ลูกในความเป็นมนุษย์แนบแน่นใกล้ชิดกันมากกว่าสัตว์โลกทั่วไป นั่นเป็นเพราะพ่อแม่หรือแม่นั้นมักจะคิดว่า ตนเองนั้นเป็นเจ้าของลูก หรือลูกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพ่อแม่ เป็นเสมือนสมบัติหรือทรัพย์สินส่วนตัวที่จะต้องดูแลรับผิดชอบไปจนกว่าลูกจะช่วยเหลือตนเองได้ เช่นเดียวกับลูกหรือเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างทะนุถนอมจากแม่  มักจะคิดแบบเดียวกับแม่ว่า ลูกเป็นของแม่ และแม่ก็เป็นของลูก ระหว่างการเจริญเติบโต แม่มีอำนาจในการบงการชีวิตลูก ลูกต้องรับฟังทำตามคำสั่งคำแนะนำของแม่เช่นเดียวกันเพราะรักลูก แม่จึงตามใจ ลูกอยากได้อะไรหรือต้องการอะไร แม่จัดหาให้ได้ทุกอย่าง และเมื่อแม่อายุมากขึ้น ในทางกลับกันลูก ๆ จะต้องทำหน้าที่ส่งเสียดูแลแม่หรือพ่อแม่ แม่จึงเหมือนกับได้สละอำนาจตนเองให้อยู่ในการดูแลของลูก หรือทำตามความคาดหวังของลูก ๆ เหมือนกับที่ลูกก็เคยอยู่ในโอวาทของแม่เช่นกัน!

ทั้งนี้ ทัศนคติหรือความคิดความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งต่างจากพ่อแม่หรือครอบครัวในประเทศตะวันตกที่การอบรมเลี้ยงดูเด็ก ๆ จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และยอมรับในความเป็นตัวเองและของผู้อื่น เด็ก ๆ จะถูกปฏิบัติอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในฐานะของคนที่มีสิทธิเท่าเทียมกันตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสิทธิทางกายภาค และความเชื่อในจิตวิญญาณว่า “ลูกเป็นของแม่ และแม่เป็นของลูก” อาจเป็นความรู้สึกและสำนึกที่จำเป็น แต่ทุกอย่างก็มีขอบเขตในตัวของมันเอง เหมือนดังเช่นคนรุ่นเก่ามักจะพูดให้คิดไว้เสมอว่า “พ่อแม่นั้นเลี้ยงลูกได้แต่กาย แต่เลี้ยงใจไม่ได้” เพราะแต่ละคนย่อมมีจิตวิญญาณของความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน หรือ จิตวิญญาณและความเชื่อของเขานั้น อยู่ในบ้านของวันพรุ่งนี้ บ้านที่ไม่มีวันที่เราจะก้าวไปถึง! (คาห์ลิล ยิบราล)

ในกรณีที่ปรึกษามาข้างบนนี้ดูเหมือนคนที่ยึดมั่นถือมั่นกับการเป็นเจ้าของนั้นคือ “ลูก” ในขณะที่ผ่านมาเราจะได้ยินเสมอ ๆ ว่า “ลูกสาวบ้านนั้นแม่หวงมาก  ไม่ยอมให้คบหาผู้ชาย!”  หรือ “บ้านนี้หวงลูกชายมาก  ขนาดลูกชายแต่งงานแล้ว แม่ยังเข้าไปนอนในห้องนอนด้วย!” และอีกหลายเรื่องราวที่ความรักของแม่อาจกลายเป็นปัญหาเมื่อวันเวลาผ่านไป แต่แม่ยังไม่ยอมรับว่าลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และต้องการการยอมรับและความเคารพในสิทธิของตนในฐานะของคนคนหนึ่ง!

แล้วสิทธิของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” แม่ที่ต้องคอยดูแลรับใช้ให้บริการกับทั้งสามี และลูก ๆ แม้ในยามที่สามีป่วยหนักและเสียชีวิต ลูก ๆ เติบใหญ่มีครอบครัวของตัวเองแยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวตนเอง   บ้านที่เคยอบอุ่นวุ่นวายด้วยเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้ของลูก ๆ บัดนี้กลับเงียบเหงาว่างเปล่า มีเพียงความทรงจำของสุขและทุกข์ที่ยังจัดเก็บอยู่ข้างหลัง แล้วคนที่เป็นแม่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เธอยังอยากใช้ชีวิตอยู่กับความทรงจำในอดีต หรือเธอต้องการจะเปลี่ยนแปลง  ตั้งต้นเลือกทางใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมหรือทำอะไร  เคยมีใครถามเธอบ้างหรือเปล่า ว่าแม่ต้องการทำอะไร จะใช้ชีวิตอย่างไหนต่อไป?  

ทั้งนี้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ครอบครัวในสังคมไทยมากมายที่ลูก ๆ เติบโตมีลูกหลานของตนเอง แต่เพราะคนรุ่นใหม่ทั้งสามีภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อจะได้มีรายได้เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องส่งลูกไปให้ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยง ซึ่งในอดีตผู้สูงวัยยอมรับหน้าที่เลี้ยงดูหลานเป็นงานของตน  แต่ปัจจุบันปู่ย่า ตายายมากมาย ที่เคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานทำ มีความเหนื่อยยากตลอดมา ถึงจุดหนึ่งมักรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่วุ่นวายสับสน  เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว อาจไม่ต้องการจะรับผิดชอบในการเลี้ยงหลาน ๆ ยิ่งหากตนเองมีฐานะทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน อาจต้องการเลือกทางชีวิตใหม่ตามลำพัง หรือพบคนใหม่ที่ถูกใจ อยากมีคนใหม่ดูแลหรือพร้อมจะมีคนถูกใจใหม่มาเดินอยู่เคียงข้าง เหมือนดังในกรณีของคุณแม่ของผู้ที่ปรึกษามาคนนี้

แน่นอน...การที่ “แม่” จะพบผู้ชายคนใหม่ จะคบหาเป็นแฟนหรือจริงจังจนถึงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ไม่ได้หมายความเสมอไปว่า เธอจะลืมสามีเก่าซึ่งเป็นพ่อของลูกสาวทั้งสอง หรือหมดรักลูกทั้งสองแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะทุกข์มากกว่าสุขหรือสุขมากกว่าทุกข์ ผู้หญิงคนนี้ก็ได้ทำหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะภรรยาและแม่อย่างดีที่สุดแล้ว ถึงวันนี้สามีเธอเสียชีวิตไปแล้ว ลูกสาวทั้งสองได้รับการศึกษาตามฐานะ และแต่งงานมีครอบครัวที่มีความสุข จึงไม่เหลือเงื่อนไขหรือความรับผิดชอบในครอบครัวที่เธอจะต้องทำต่อไป โดยเฉพาะหากเธอไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่กับบรรยากาศเก่า ๆ หรือความทรงจำเก่า ๆ อีกต่อไป “แม่” ก็มีสิทธิ์จะเลือกที่จะก้าวไปในหนทางใหม่ไม่ใช่หรือ?

แม้ลูกสาวสุดที่รักทั้งสองของแม่ จะไม่ชอบผู้ชายใหม่ของแม่ ไม่ต้องการให้แม่แต่งงานใหม่ ไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมและการกระทำของแม่ได้ แต่แม่ก็บอกลูก ๆ ว่าเธออยากให้ลูกยอมรับว่าแม่ชอบเขา และเขาเป็นคนดี แต่ดูเหมือนความต้องการและความคิดของแม่ จะไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกจะยอมรับด้วยความเคารพรักได้  เธอยื่นคำขาดให้แม่เลิกความคิด ยุติความสัมพันธ์การคบหากับชายคนนั้น ทั้งที่ลูกสาวไม่เคยรู้จักฝ่ายชายมาก่อน แม่บอกลูกว่า ผู้ชายคนนั้นเป็นพ่อหม้ายเมียตาย ลูกสาวเขาเพิ่งเรียนจบปริญญา เขาเคยเป็นเพื่อนแม่มาก่อน และแม่อยากจะได้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่กับเขา แต่ลูกสาวไม่ยอมเธอบอกกับแม่ว่า “ถึงลูกตายก็จะไม่ยอมรับผู้ชายคนนี้!” ....หัวอกแม่ หากได้ยินลูกยื่นคำขาดเช่นนี้ ไม่ว่าลูกจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ย่อมจะปวดร้าวและทุกข์ใจที่ลูกไม่เข้าใจแม่ แม่คงต้องมองย้อนกลับไปเพื่อทบทวนว่า แม่เคยยื่นคำขาดด้วยคำพูดที่ก้าวร้าวอย่างนี้หรือเปล่า หรือเพราะแม่รักลูกมากเกินไป.....

“ตอนเด็ก ๆ แม่รักหนูมาก ตามใจและฟังลูกทุกอย่าง แต่วันนี้แม่เปลี่ยนไป.....”ที่ผ่านมา คงเพราะแม่รักลูกมาก อยากให้ลูกมีความสุข ไม่เคยขัดใจ แม่เคยยอมลูกทุกอย่าง จนลูกลืมตัว และหลงคิดว่าตนเองเป็น “เจ้าชีวิต” ของแม่ ต้องการให้แม่เป็นอย่างที่ลูกต้องการ โดยไม่ต้องการได้ยินและรับรู้ว่า แม่ก็มีชีวิต มีจิตใจที่เป็นของแม่เอง และแม่ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินให้ชีวิตตนเองได้ และสิ่งที่แม่ร้องขอก็เพียง “โอกาส”

แม่ร้องขอโอกาสที่ลูกจะยอมรับและเข้าใจความต้องการของแม่ แม่ในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง  แม้เธอจะเป็น “แม่” ของลูกสาวสองคน แต่ตอนนี้ลูกเติบใหญ่มีครอบครัวของตนเอง ลูกทั้งสองเลือกชีวิตและเส้นทางของตนเองด้วยตนเอง  แล้วทำไม แม่จึงจะเลือกทางใหม่ของตัวเองไม่ได้!

“.....หนูกลัวว่าแม่จะโดนผู้ชายคนนี้หลอก เพราะรู้ว่าแม่หนูมีเงินมาก.....” คำถามเกิดขึ้นว่า ลูกห่วงแม่ หรือห่วงเงินของแม่? จริงอยู่ การตัดสินใจจะคบหาผู้ชายใหม่ ถึงแม่จะมีประสบการณ์ชีวิตมายาวนาน  รู้จักผู้คนมากมาย แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่า การตัดสินใจเลือกครั้งนี้ แม่จะต้องถูกต้องถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ คนโบราณเตือนใจเราว่า “คนเรา รู้หน้าไม่รู้ใจ” หรือบ้างก็ว่า “หน้าเนื้อ ใจเสือ” คือคนที่ปกติดูดีไปทุกอย่าง แต่ใจของเขาอาจะคิดสิ่งชั่วร้ายก็ได้!” และสิ่งที่ลูกทั้งสองกังวลในวันนี้ว่า ผู้ชายคนนี้จะมาหลอกเอาเงินจากแม่ อาจเป็นเรื่องจริงได้ในอนาคต แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ เพราะ “ชีวิตคู่” เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเสี่ยงต่อความสมหวัง และเสี่ยงต่อความผิดหวัง  แม่ย่อมจะต้องเข้าใจกฎข้อนี้ดี และเมื่อ “แม่”  ตัดสินใจเลือกแล้ว แม่ก็จะต้องยอมรับ “ผลลัพธ์” ที่จะตามมาภายหลัง ที่สำคัญ นี่คือชีวิตของแม่ นี่คือเงินของแม่ ทำไมไม่ให้โอกาสหรือสนับสนุนให้แม่ได้เป็นและได้ทำในสิ่งที่แม่ต้องการจะทำ สักครั้งเดียว ทำไมไม่เชื่อมั่นในตัวของแม่บ้าง?

เสียงลูกสาวคร่ำครวญต่อ “.....ชีวิตหนูตอนนี้หนูมีแม่เพียงคนเดียว หนูอยากให้แม่เป็นเสาหลักให้หนูและพี่สาว ไม่ได้ต้องการสมบัติอะไรจากแม่เลย อยากดูแลแม่ อยากให้แม่เป็นกำลังใจให้ในการเริ่มต้นทำมาหากินของหนู และพี่สาว หนูเสียใจและร้องไห้ทุกวัน ตอนหนูเด็ก ๆ แม่รักหนูมาก ตามใจ และฟังหนูทุกอย่าง ตอนนี้แม่เปลี่ยนไปมาก หนูควรจะทำอย่างไรดีคะ?

อีกครั้งหนึ่งที่เสียงร้องไห้คร่ำครวญของลูกสาวเกี่ยวกับมารดาของเธอ สะท้อนให้เห็นเรื่องราวมากมาย คำถามที่เกิดขึ้นคือ “สรุปแล้ว  ลูกสาวห่วงแม่จริง ๆ หรือห่วงตัวเธอเองกันแน่?” เธอบอกว่าตอนนี้เธอสองคนมีแม่เพียงคนเดียว พ่อเสียชีวิตไปแล้ว แล้วสามีของเธอสองคนเล่าไปไหนหรือ ทำไมเขาจึงเป็นเสาหลักให้เธอไม่ได้ พี่สาวเธอก็มีสามีแล้วเขาไปอยู่ที่ไหน เมื่อครอบครัวตัวเองอยู่ดีมีความสุข เธอก็ไม่น่าที่จะร้องไห้คร่ำครวญเหมือนเด็ก ๆ ที่ยังช่วยตนเองไม่ได้ อยากให้แม่มาอยู่ใกล้ ๆ พอไม่ได้ดังใจก็อาละวาด  หรือว่าเธอมีปัญหาครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือจากแม่ !?!

เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนไทย ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมีความผูกพันแนบแน่น แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความเคารพในความเป็นตัวตนของคนคนหนึ่ง   ที่มีสิทธิที่จะเลือกตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตหรือกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ แต่กลับขึ้นอยู่กับความพอใจและการยอมรับของคนรอบ ๆ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่มากกว่า   ที่สำคัญในความแนบแน่นนั้นเหมือนจะเป็นความผูกพันที่แข็งแกร่ง แต่แท้ที่จริงอาจเป็นเพียงความอ่อนแอ ที่แอบแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ ที่ต้องพึ่งพิงกันและกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “แม่กับลูกสาว”

เจ้าของจดหมายฉบับนี้ เขียนจดหมายมาปรึกษาด้วยความรัก  ความห่วงใยในฐานะของลูกที่มีต่อแม่  โดยลืมที่จะมองย้อนกลับไปว่า ตลอดชีวิตของการเจริญเติบโตของลูกสองคนนั้น แม่ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบจึงทำให้เธอได้เรียนจบ มีงานทำ และแต่งงานมีครอบครัวที่ตนเองตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง  แม่ไม่ได้ขัดขวางหรือท้วงติงอะไร แม่ให้ความเคารพยอมรับการตัดสินใจของลูก ทั้งในชีวิตส่วนตัว  แม่เลือกแต่งงานกับสามี กับพ่อของลูกและสองคน ใช้ชีวิตสมรสอย่างมีความสุข ช่วยกันดูแลเลี้ยงดูลูก แม้ในยามพ่อเจ็บป่วย  แม่ก็ดูแลพ่ออย่างดี  แม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนไม่บกพร่อง ถึงวันนี้แม่ยังไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดจนต้องกลัวว่าแม่จะถูกผู้ชายใหม่หลอก! โดยเฉพาะแม่ขอโอกาสให้ลูกได้รู้จักเขา ยอมรับให้ความเคารพเขาบ้าง เพื่อเห็นแก่ความสุขของแม่ ทำไมลูกทั้งสองจึงให้ไม่ได้!?!


ถึงหากวันหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ชายหลอกลวงจริง ๆ แม่ก็คงยอมรับความผิดหวังในการตัดสินใจของตนเองได้ ชีวิตที่ผ่านมาแม่ได้ทำดีที่สุด ทั้งทุกข์และสุขจะมากน้อยกว่ากันไม่สำคัญ แม่เข้าใจชีวิตและพร้อมจะก้าวเดินต่อกับผู้ชายคนใหม่ที่แม่พอใจ แต่ลูกกลับบอกว่าแม่ทำไม่ได้ ไม่ให้แม่ทำ ทำไมลูกจึงต้องการให้แม่ทำอย่างที่ลูกต้องการ ต้องเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของลูกต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่หรือ ลูก ๆ  ลืมไปแล้วหรือว่า แม่ก็มีชีวิตของตนเองที่จะต้องเดิน ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่แม่อยากทำ และแม่มีสิทธิ์ที่จะทำ โดยไม่ต้องรบกวนหรือขอให้ลูกช่วย แม่เพียงต้องการการยอมรับจากลูก ต้องการให้ลูกเคารพในสิทธิส่วนตัวของแม่บ้าง  ทำไม่ได้เลยหรือ
?


สิ่งที่แม่ทำต่อไปนี้ ลูกอาจไม่ชอบไม่พอใจเพราะไม่อยากให้แม่เสียใจ ทุกข์และผิดหวัง แต่แม่ก็อยากลองอยากเสี่ยง หลายปีของการมีชีวิตที่เคร่งเครียดในการปกป้องดูแลลูก ดูแลรักษาสามีที่เจ็บป่วย ยิ่งนานวันก็เหมือนแม่จะค่อย ๆ ตายไปด้วยพร้อมกับเขา แต่ตอนนี้สามีที่รักและเคยเคียงข้างก็ได้จากไปแล้ว แต่แม่ยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป และเมื่อมีทางเลือกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมแม่ก็อยากลอง อยากเสี่ยงด้วยตัวเองอีกสักครั้งหนึ่ง หากลูกรักแม่ และอยากให้แม่มีความสุข ก็น่าจะปล่อยให้แม่ได้ทำอย่างที่ต้องการ หากแม่พลาดผิดหวังมา ลูกทั้งสองคนก็ต้องพร้อมจะยืนเคียงข้าง คอยปลอบใจเป็นกำลังใจให้แม่เหมือนที่แม่เคยเป็นกำลังใจของลูกที่ผ่านมา  ทำได้ไหมลูก
?


ในสังคมไทย เรื่องของความคาดหวังที่ลูก ๆ มีต่อพ่อแม่ เป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับ “หัวอกของคนเป็นแม่” ทั้งเลี้ยงลูกทำงานจนลูกเติบใหญ่ ต่างแต่งงานแยกครอบครัวกันไปแล้ว แม่อยากอยู่สบายได้เป็นตัวของตัวเองบ้าง ลูกก็บอกว่า อยากให้แม่ไปอยู่ด้วย เป็นหลักเป็นร่มโพธิ์ทองให้ลูกหลาน ในอีกความหมายหนึ่งคือ “คอยรับใช้ให้บริการแก่ลูกหรือเลี้ยงหลาน เพราะคงจะหาคนเลี้ยงเด็กได้ดีอย่างแม่ไม่ได้!” บ้างก็ว่า ช่วงนี้หนูกำลังทำงานหนักสร้างฐานะ แม่ต้องมาอยู่ดูแลหลาน ๆ รอให้หนูตั้งหลักได้เสียก่อนแม่ค่อยพักผ่อน บ้างก็ว่า ถ้าแม่ไม่ยอมมาเลี้ยงหลาน หนูจะส่งหลานไปที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก!           


แน่นอน.....เป็นเรื่องดีที่เด็ก ๆ หรือหลาน ๆ จะได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากตายายอย่างใกล้ชิด แต่ลูก ๆ มักจะลืมหรือมองข้ามว่าพ่อแม่ก็แก่เฒ่า เหนื่อยล้า ถึงเวลาจะต้องดูแลตรวจสุขภาพของตนเองและได้พักผ่อนตามวัย หรือได้มีโอกาสจะใช้ชีวิตในการท่องเที่ยวพักผ่อนหรือได้ทำในสิ่งที่อยากทำบ้าง แต่ปัจจุบันทั้งในกลุ่มคนชนบทหรือคนเมือง คนหนุ่มสาวต้องผลักดันตนเองออกไปทำมาหากิน ทำงานนอกบ้านหรือนอกประเทศ และต้องฝากลูกเล็ก ๆ ให้อยู่กับพ่อแม่แก่ชราที่บ้าน ด้วยช่องว่างระหว่างวัยทำให้ความสัมพันธ์กลายเป็นความขัดแย้ง หรือคนรุ่นปู่ย่า ตายาย ก็เลี้ยงหลานแบบคนรุ่นเก่า ทำให้เด็ก ๆ ขาดความใกล้ชิดอบอุ่น การถูกเลี้ยงให้ผ่านไปวัน ๆ ในที่สุดโตขึ้นมาก็ทิ้งบ้านทิ้งตายายปู่ย่าไปทำงานหากินเอง ปล่อยผู้สูงวัยไว้ตามลำพัง


สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย มองย้อนไปกว่า 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่ละช่วงวัยหรือแต่ละรุ่นต่างก็ผันผ่านสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกันไป สมัยที่ประเทศไทยยังค่อนข้างยากจน ผู้คนพ่อแม่ลำบากต้องอดทนอดออมในการทำงานเลี้ยงครอบครัว เมื่อมีลูก ๆ ชีวิตเข้าสู่ช่วงสะดวกสบายมากขึ้น พ่อแม่ก็เลี้ยงดูลูกตามใจ ได้ทุกอย่างที่พ่อแม่ให้ได้ เหมือนจะชดเชยความไม่มีในอดีตของพ่อแม่ ลูกหลานรุ่นนี้จึงคาดหวังและเรียกร้องสูงจนเหมือนจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมโต พ่อแม่ก็ต้องยอมตามใจทำให้จนเหมือนลูก ๆ จะลืมไปว่า พ่อแม่ก็ต้องการมีชีวิตของตนเอง การแสดงความรักความห่วงใยโดยคาดหวังว่าพ่อแม่จะต้องทำตามใจตามความต้องการของลูก อาจกลายเป็นความเห็นแก่ตัว ขาดความเคารพและไม่ยอมรับสิทธิส่วนบุคคลของพ่อแม่ได้ดังในกรณีนี้


เพราะฉะนั้น การที่ลูกมากมายอาจรู้สึกผิดหวังในการกระทำหรือพฤติกรรมของพ่อแม่นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และแลเห็นได้มากมายในทุกวันนี้ แต่หากลูกจะมีหัวใจแห่งความรัก ความเมตตาและความเข้าใจพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวคนไทยที่สวัสดิการของรัฐยังมีให้น้อยมาก พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อให้ลูกมีกินมีอยู่มีที่เล่าเรียน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะปัญหาช่องว่างระหว่างประชาชนผู้ยากจนกับฝ่ายที่ร่ำรวยยังมีสูงในประเทศไทย จึงสำคัญที่ลูก ๆ จะต้องเข้าใจและลดความคาดหวังในพ่อแม่ให้น้อยลง ทั้งตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการปกป้องช่วยเหลือดูแลพ่อแม่ โดยเฉพาะจงเคารพในความเป็นตัวตนของเขาในฐานะของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะเลือก จะทำ จะเป็น อย่างที่เธออยากเลือก อยากทำ แต่อาจไม่เคยมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเองมาก่อน และไม่ใช่แต่ในฐานะพ่อหรือแม่อย่างที่เราอยากเห็นอยากให้เขาเป็นเท่านั้น!


กลับด้านบน