มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) พ่อแม่รังแกฉัน

15 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) พ่อแม่รังแกฉัน

“เท่าที่จำความได้ ตั้งแต่เกิดมาก็โดนคนแถว ๆ บ้านทำร้ายเอาแล้ว พวกเขาหาว่าผมเป็นตัวซวย  เป็นเหมือนคนไร้ค่าที่จะทำอะไรก็ได้ ผมเคยโดนปาถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ ๆ ใส่ตัวตั้งแต่ยังไม่ห้าขวบ คนปาก็สนุกสนาน ผมไม่เคยบอกแม่ให้รู้เรื่องนี้ เพราะตอนเด็ก ๆ แม่มักจะแก้ปัญหาทุกเรื่องด้วยการไล่ตีผม ตีจนผมเป็นแผลเต็มไปหมด จนบางครั้งถึงขนาดต้องยกมือไหว้ขอให้หยุดเลยก็มี ส่วนพ่อก็ไม่เคยรู้อะไร ทำงานต่างประเทศบ้าง เมืองไทยบ้าง กลับมาก็ค่ำแล้ว โตขึ้นมาหน่อย ปรากฏว่าผมมีอาการผิดปกตินั่นคือมีสิวขึ้นบนหัว พอตัดผมทรงนักเรียนก็จะยิ่งเห็นชัด คือเป็นเม็ดสิวเต็มหัวเต็มไปหมด ตอนนั้นแหละที่ผมเห็นชัดเจนว่า  ทั้งพ่อและแม่ต่างก็รังเกียจผม  พ่อถึงขนาดหลุดปากออกมากับน้องชายของผมว่า  “กล้ากินซุปถ้วยเดียวกับพี่ได้ยังไง” ผมเจ็บปวดมากมาจนถึงทุกวันนี้ มันเหมือนปมด้อย เหมือนฝันร้ายที่แก้ยังไงก็ไม่หาย หลับตาก็เห็น  ปิดหูก็ยังได้ยิน 


ตอนนี้อายุ 22 ปี มีพ่อมีแม่มีน้อง แต่กลับไม่เคยรู้สึกว่าตนเองมีครอบครัว ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า ความอบอุ่นคืออะไร แต่ก็อยากได้ อยากได้ความอบอุ่นบ้าง อยากได้ความรัก อยากได้คนที่กอดแล้วอบอุ่น บางครั้งก็เกลียด เกลียดแค้นคนทุกคนบนโลก บางครั้งก็รู้สึกว่า โดนเกลียด รู้สึกว่าใคร ๆ  ก็เกลียดเรา ชีวิตช่างไม่มีค่า  ทำไมเราต้องเกิดมา ผมไม่รู้สึกรักพ่อแม่เลย และก็ไม่รู้ว่าความรักต่อพ่อแม่มันเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า เคยตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่าให้ผมเกิดมาทำไม
? สิ่งที่พอจะทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีค่าอยู่บ้างก็คือ ตนเองเป็นคนเรียนดี มีคนมาขอให้สอนหนังสือเยอะ เลยต้องออกไปสอนหนังสือบ่อย ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ความเจ็บปวดต่าง ๆ  มันก็ยังฝังลึกในใจอยู่ดี รู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีค่า เหนื่อยที่จะหายใจ ปรึกษาใครก็ไม่ได้ พูดให้ใครฟังก็ไม่ได้ อยากตาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”

 

ทุกวันนี้  เราตื่นเช้าขึ้นมาเปิดโทรทัศน์ดูเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแต่ละที่ เราจะได้เห็นได้ยินเรื่องราวของคนวัยรุ่น ที่จับกลุ่มรุมทำร้ายกันและกัน จนบาดเจ็บล้มตายกันหลายคนในแต่ละวัน  นอกจากนั้นก็จะเป็นข่าวจี้ปล้นขโมยทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายฆ่าเจ้าทรัพย์ ตลอดจนข่าวลูกฆ่าพ่อแม่ พ่อฆ่าลูกเพราะกลัวลูกจะแย่งสมบัติ หรือการอุ้มฆ่าเพื่อชิงทรัพย์กลบหนี้ หรือโกรธกันด้วยเรื่องไม่หนักหนา แต่ก็ฆ่ากันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะกรณีเรื่องชู้สาว ภรรยาหรือแฟนนอกใจ ขอคืนดีไม่ยอมคืนดี เด็กหญิงแรกรุ่นถูกพ่อหรือคนรู้จักข่มขืนแล้วฆ่า ตลอดจนฆ่าคู่อริแล้วฆ่าตัวเองตาย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากเรื่องง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่ก็จบลงด้วยชีวิตของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่าย คำถามคือ เรื่องราวรุนแรงเหล่านี้นับวันจะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะอะไร? คนที่ลงมือกระทำความรุนแรงเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ในใจ หรือเขาได้สะสมความโกรธเกลียดไว้ตั้งแต่เมื่อไร เขาเป็นอะไร หรือใครทำให้เขาเป็นคนโหดเหี้ยมได้ถึงขนาดนี้ ?     

เป็นเรื่องน่าตกใจ หากผู้คนในสังคมไทยจะรู้สึกว่า ในชีวิตที่เราออกไปทำมาหากินพบปะผู้คน บนถนนและรถโดยสารที่แออัดไปด้วยผู้คนหลากหลายจากทุกสารทิศ ทุกระดับชั้นการศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจ  คนเหล่านั้นจำนวนมาก เหมือนพกเอาระเบิดเวลาไว้ด้วย เราไม่รู้ว่า เมื่อไร ที่ไหน เขาจะหยิบระเบิดที่พกเอาไว้ขึ้นมาขว้างใส่คนที่มาขวางทาง หรือคนที่กระตุ้นอารมณ์โกรธของเขา แม้บนถนน บนรถเมล์ เราเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเสมอมา 

จากเรื่องราวความทุกข์ของเด็กหนุ่ม ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่ไม่เคยแสดงความรักความห่วงใย นอกจากการวิ่งไล่ตีเมื่อไม่พอใจหรือเขาทำผิด ทำให้คนรอบ ๆ บ้านเห็นเป็นเรื่องปกติที่จะใช้เขาเป็นที่ระบายอารมณ์ไปด้วย หรือทำร้ายรังแกเขาได้เสมือนเขาเป็นเด็กสาธารณะ เป็นเด็กข้างถนนไม่มีเจ้าของคอยคุ้มกัน มันทำให้เด็กเจ็บปวดขมขื่นใจ แต่เขาก็ต้องเก็บกดอารมณ์ความทุกข์ต่าง ๆ  เหล่านั้นไว้  เพื่อให้ชีวิตรอดต่อไป แต่เติบใหญ่มาด้วยความรู้สึกเสมือนตัวเองไร้ค่าไม่มีราคาสำหรับใคร ๆ ในโลกนี้ นั่นหมายความว่า เขาอาจจะทำอะไรก็ได้ เพื่อตอบสนองหรือชดเชยความบาดเจ็บของเขา

เด็กที่ถูกละเลยและเพิกเฉยหรือถูกทำร้ายทุบตีจนหัวใจชาชินด้วยความโกรธ น้อยใจเสียใจ  จนเหมือนเขาจะไม่รู้จักว่าความรักจริงๆ เป็นอย่างไร เขาอาจจะว้าเหว่ สับสนและต้องการอ้อมกอดอันอบอุ่นจากพ่อแม่หรือคนใกล้ที่คุ้นเคย แต่การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากพ่อแม่บ่อย ๆ ทำให้เขายากจะทำใจเชื่อว่า  จะมีใครรักเขาจริง ขนาดพ่อแม่ยังหักหลัง ทำร้ายทรยศต่อเขาทำให้เขาเจ็บปวดได้ขนาดนี้ เขาจึงไม่กล้าจะรักใคร ไม่อยากที่จะรู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป และนี่คือบาดแผลจากความรุนแรงในครอบครัวที่จะติดตามติดตัวเขาไปอีกนานเท่านาน หากไม่ได้รับการบำบัดเยียวยาโดยนักวิชาชีพ

ธรรมชาติของคนที่บาดเจ็บครั้งแรก ๆ เขาอาจซ่อนตัวกลบเกลื่อนความเจ็บปวดของตัวเอง ไม่พยายามให้ใครรับรู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของเขา เหมือนสัตว์ที่แอบไปเลียแผลที่ถูกทำร้าย แต่หากความเจ็บปวดจากบาดแผลทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ คนหรือสัตว์ที่ถูกต้อนไปจนมุมก็พร้อมจะหันหน้ามาสู้อย่างไม่กลัวเกรง  ไม่รู้ถูกผิดขอเพียงให้ได้ยุติความบาดเจ็บนั้น หรือทำให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของเขา คนจำนวนมากที่เคยถูกกระทำความรุนแรง มีบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา ต้องสะสมความทุกข์ทรมานไว้เงียบ ๆ และรอเวลา

ขณะเดียวกัน เมื่อคนคนหนึ่งถูกทำร้าย หรือถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ สัญชาติญาณเตือนให้เขาคิดว่าจะ “หนีหรือจะสู้” แต่ธรรมชาติได้ให้พลังและศักยภาพในการปกป้องดูแลกับมนุษย์มาไม่เท่ากัน หรือมนุษย์มีความสามารถในการนำพลัง และความสามารถของตนออกมาใช้ได้ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะ “พลังทางความคิด” คือ “สติและปัญญา” กรณีของเด็กหนุ่มคนนี้  ท่ามกลางความเจ็บปวดเสียใจน้อยใจและโศกเศร้า เขาได้พบว่า ตัวเขาเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง มีความสามารถในการสอนคนให้รู้เรื่องในวิชานั้น ๆ ได้ นี่คือ “พรสวรรค์” ที่เขาได้รับมาเพื่อใช้ในการเผชิญกับความทุกข์ยากทั้งปวง และเขาได้อาศัยสติและปัญญาที่ติดตัวมาในการสู้ หรือหลบเลี่ยงหลีกหนีความบาดเจ็บเป็นครั้งคราวโดยวิธีนี้ จึงทำให้เขาสามารถยืนหยัดขึ้นปกป้องตนเองได้ เพราะยิ่งเขาเติบใหญ่มีการศึกษาสูง ทำงานหาเงินดูแลตนเองได้ ความต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่จะค่อย ๆ ลดลง หากเขาจะให้โอกาสตัวเองที่จะรัก รักตัวเองรักพ่อแม่ด้วยการทำความรู้จักกับคำว่า “ให้อภัย” ความบาดเจ็บทั้งหลายก็อาจจะได้รับการเยียวยาในที่สุด

แต่เด็ก ๆ และวัยรุ่นส่วนใหญ่ ที่อาจจะเผชิญความทุกข์ยาก และบาดเจ็บมากหรือน้อยกว่าเด็กหนุ่มคนนี้ ก็อาจมีวิธีในการเยียวยาหรือเผชิญกับความบาดเจ็บด้วยการหนีอย่างสร้างสรรค์ คือไม่ถือสากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากนัก เกิดขึ้นแล้วปล่อยให้วันเวลากลืนกินไป ไม่ต้องจดจำสิ่งที่ไม่ดี เดี๋ยวทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเอง  เมื่อจังหวะเวลาของเรามาถึง เราก็จะทำให้ดีให้ถูกทางมากกว่าที่ผ่านมา แต่ใครล่ะจะเป็นคนที่บอกเขา คนที่คิดได้เช่นนั้นถือว่ามีสุขภาพจิตดี ใช้สติและปัญญานำทาง ไม่ปล่อยให้ตนเองตกเป็นเหยื่ออารมณ์ เหยื่ออดีต  พร้อมจะก้าวข้ามความทุกข์สู่สิ่งที่ดีกว่า เรียกว่ามองโลกทางบวกหรือในหนทางที่สร้างสรรค์

อย่างไรก็ดีก็ยังมีวัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาจเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในชุมชน จนเขาต้องสร้างเกราะคุ้มกันตนเอง ด้วยการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง แสดงความเก่ง คบเพื่อนเกเร สะสมอาวุธร้าย ไม่ชอบใครไม่พอใจก็พร้อมจะเข้าทำร้ายให้ตนเองรู้สึกไม่ใช่เหยื่อต่อไป เช่นกันสำหรับเด็กอีกมากมาย อาจใช้วิธีหนีออกจากบ้านไปผจญภัยเอาข้างหน้า เหมือนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กข้างถนนทั้งหลายที่ออกจากบ้านมาเพื่อสู้ชีวิตด้วยตนเอง หรือเป็นการหนีความทุกข์โศกทั้งปวง ส่วนจะหนีได้จริง ๆ หรือไม่เป็นเรื่องข้างหน้า เขาเพียงมองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ด้วยความเยาว์วัยความไม่รู้ ขาดผู้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ  ปลายทางนั่นอาจนำเขาไปสู่ความทุกข์โศกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้

 เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง  ไม่ว่าจะเป็นหญิงชายในวัยใด การได้มีโอกาสพบและได้รับการบำบัดเยียวยาจากนักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์  หรือผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเหยื่อความรุนแรงแม้ถูกทำร้ายร่างกาย แต่หัวใจก็บาดเจ็บด้วยเช่นกัน นักวิชาชีพเหล่านี้มีหน้าที่บำบัด เยียวยา และช่วยให้ผู้คนในสังคม และในครอบครัวเกิดความเข้าใจว่า เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกที่ปลอดภัยและไม่รุนแรง การเคารพในสิทธิความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ว่าความขัดแย้งจะมากน้อยขนาดไหน ไม่มีใครมีสิทธิ์จะทำร้ายหรือคุกคามอีกฝ่ายหนึ่งให้อยู่ในความหวาดกลัว การย้ำเตือนสติคนที่บาดเจ็บมาก ๆ ด้วยการพูดคุยเยียวยาจะช่วยให้ผู้บาดเจ็บไม่กระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นเพื่อชดเชยความโกรธ เกลียด ชอกช้ำของตนเอง

สำหรับกรณีเด็กหนุ่มคนนี้ ในความทุกข์นั้นมีความสับสน ข้องใจ น้อยใจ เสียใจ มีความโกรธเกลียด  และรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า เขาต้องการคำอธิบาย คำปลอบใจ กำลังใจ ต้องการใครสักคนมาบอกเหตุผลที่จะทำให้เขาเห็นคุณค่า และจุดมุ่งหมายในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไป นักสังคมสงเคราะห์ต้องช่วยเขาให้ก้าวออกจากความสับสนใจ เกิดการเรียงลำดับทางความคิดให้เขาได้พยายามมองโลกด้วยความเข้าใจ มองพ่อแม่ด้วยความเห็นใจและให้อภัย

“เป็นไปได้หรือเปล่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่พ่อแม่มากมายแสดงออกไม่เป็น ประกอบกับมีเรื่องราวในชีวิตมากมาย ที่สร้างความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ทำให้พ่อแม่มีความเครียดสูงในการดำเนินชีวิต  โดยเฉพาะแม่ต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพัง เพราะพ่อไม่ค่อยอยู่ในประเทศไทย การที่แม่ต้องแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นอาจเพราะ สื่อสารไม่เป็น ไม่ได้เจตนาจะทำให้ลูกอับอายหรือเสียใจ เช่นเดียวกับพ่อ เพราะฉะนั้นถ้าลูกอภัยให้พ่อแม่ได้ จิตเราย่อมสงบ ถ้าเราโกรธเสียใจน้อยใจเขา เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ ถึงเขาจะพูดไม่เพราะกับลูก แต่เขาก็ทำหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดี โดยการส่งเสียให้เราเรียนสูง ๆ ประกอบกับเราเกิดมามีสติปัญญาเหนือคนมากมาย  ทำให้เรียนหนังสือเก่งจึงทำให้มีงานพิเศษทำ ช่วยตนเองได้ทั้งที่ยังไม่โต พ่อแม่ย่อมภูมิใจแต่เขาพูดไพเราะไม่เป็น หากเราอยากให้เขาพูดดี ๆ กับเรา ลูกก็ต้องหัดพูดดี ๆ กับเขาก่อน ทำได้ไหม?

ที่สำคัญเขาอาจแสดงความรักไม่เป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักลูก แต่การที่ลูกรักเขาทำให้ตัวลูกมีความสุข เราก็รักเขา ไม่ต้องห้ามใจ แสดงให้เขาเห็น เช่นซื้อขนมมาฝากตอนเย็น วันที่เราได้รับเงินพิเศษค่าสอนหนังสือ เป็นต้น ความรักทำให้โลกนี้อบอุ่น และไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้ เราไม่จำเป็นต้องโกรธเกลียดใคร ต้องนึกเสมอว่าเราโชคดีที่มีสติปัญญาดี เรียนเก่ง ช่วยเหลือตนเองได้ แบ่งเบาภาระหน้าที่ให้พ่อแม่ได้  หมั่นสร้างความดี สะสมความรู้ไปเรื่อย ๆ เรียนจบแล้วได้งานดี ๆ ทำ พ่อแม่ก็ปลื้มใจ อย่าไปนึกถึงเลยอดีตที่ผ่านมา ปล่อยไป พ่อแม่มองย้อนกลับไปก็คงเสียใจ เพราะฉะนั้นให้อภัยเขาเถอะนะ ที่ผ่านมาเราเป็นคนดี  เป็นลูกที่ดี รักษาความดีเอาไว้ ชีวิตที่ดีงามรอเราอยู่ ทำได้ไหม ต้องพยายามค่อย ๆ ทำไป ให้อภัยเขา ให้กำลังใจตนเอง อีกไม่ช้าเราก็จะเป็นได้ ทำได้อย่างที่คิดอยากทำนะ.....”

โดยปกติเช่นเดียวกับที่พ่อแม่รักและห่วงใยลูก ลูก ๆ นั้น ถึงพ่อแม่จะดุร้ายมากขนาดไหน ลูก ๆ ก็ยังอยาก ยังต้องการจะรักพ่อแม่ เพราะคนสองคนนั้นเป็นคนที่เขาอยู่ใกล้ชิดด้วยตั้งแต่ลืมตาดูโลก จึงเป็นเรื่องเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสที่จะต้องเกลียด โกรธคนที่เขาอยากรัก หรือคนที่เขารัก! คำอธิบายที่มีเหตุผลและข้อเท็จจริงเหล่านี้คือยารักษาใจผู้คนส่วนใหญ่ที่หัวใจเป็นแผล  และบ่อยครั้ง การพูดครั้งเดียวใช่จะเยียวยาใจให้หายได้ ต้องใช้เวลาในการพูดคุย รับฟัง ฟังว่าเขาคิด เขารู้สึกอย่างไร ช่วยตั้งสติสะท้อนอารมณ์และความรู้สึก เพื่อช่วยให้ความรู้สึกทุกข์โศก โกรธแค้น ได้รับการปลดปล่อย!

ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเป็น “คนไม่ดี” คิดหรือกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นกัน ไม่มีใครต้องการจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่อยากให้ตัวเองต้องเป็นภัยต่อผู้ใด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดได้เองหรือมีสติปัญญาที่จะเอาชนะความรู้สึกบาดเจ็บนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน “โอกาส” ที่จะเข้าถึงกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำและบำบัดเยียวยาจากนักสังคมสงเคราะห์  นักจิตวิทยา  หรือจิตแพทย์  จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในสังคมไทย


กลับด้านบน