มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก...และความรุนแรง (ตอน) ทำไมวัยรุ่นต้อง (คิด) ฆ่าตัวตาย

14 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก...และความรุนแรง  (ตอน) ทำไมวัยรุ่นต้อง (คิด) ฆ่าตัวตาย

วันนั้น...เพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนหลายคนได้รับ “ไลน์” จากเด็กหนุ่มวัย 17 ปี กำลังเรียนชั้นมัธยมปีที่  5  ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ความว่า  “...เรารักเพื่อน ๆ ทุกคนนะ! และนั่นดูจะเป็นการบอกเล่าถึงความรู้สึกครั้งสุดท้ายของเด็กหนุ่มว่า “เขายังไม่อยากตาย...และเขารู้สึกอาลัยอาวรณ์เพื่อน ๆ ทุกคนในห้องเรียน...” อีกความหมายหนึ่งก็คือ...เขายังไม่อยากจากโลกนี้ไป...แต่สถานการณ์บีบคั้นมากจนเขารู้สึกเหมือนไม่มีที่ยืน ไม่มีอากาศหายใจ เขาสัมผัสถึงความว่างเปล่า ความไม่มีตัวตนจนอยากจะปล่อยร่างให้ลอยคว้างไปกับสายลม...”

แล้วตอนบ่ายวันนั้น ข่าวการกระโดดตึกสี่ชั้น ของเด็กหนุ่มชั้นมัธยม 5 ก็ช็อกคนทั้งโรงเรียน!  รถพยาบาลได้พาร่างกายที่บอบช้ำบาดเจ็บของเขาไปส่งโรงพยาบาล  แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยชีวิตของเขาไว้ได้ ท่ามกลางความโศกเศร้าของเพื่อน ๆ และครูอาจารย์ พ่อแม่ของเด็กหนุ่มได้รับโทรศัพท์จากครูที่โรงเรียนว่า  “ลูกชายของคุณประสบอุบัติเหตุตกตึกสี่ชั้น!คุณแม่ของเด็กหนุ่มรีบรุดไปโรงพยาบาล แต่ไม่ทันได้ดูใจลูกชาย เขาเสียชีวิตไปก่อน 

แม่ถามว่า  “เกิดอะไรขึ้น?

ด้วยถ้อยคำที่กลั่นกรองเรียงร้อยของครูอาจารย์สรุปได้ว่า “เมื่อวันก่อน นักเรียนสองคน ถูกขโมยเงินไป รวมแล้วสองพันบาท อาจารย์ได้เปิดกล้องที่ติดไว้ดู พบว่าเด็กหนุ่ม นักเรียนมัธยม 5 ผู้นี้เป็นผู้ขโมยเงินของเพื่อนไป ขั้นแรกได้ประกาศ “เสียงตามสาย” ให้ผู้ที่ขโมยไปนำมาคืน แล้วจึงได้เรียกเด็กหนุ่มมาตักเตือนตามลำพัง เพื่อไม่เป็นการประจานผู้กระทำผิด แต่ยังไม่ได้แจ้งให้พ่อแม่ทราบ ประเด็นนี้จึงเป็นเหตุให้พ่อแม่สงสัยว่า   “ครูอาจารย์ได้กระทำการอันเกินกว่าเหตุ เช่น กล่าวโทษระบุพฤติกรรมขโมยหน้าเสาธง หรือเป็นการทำให้เด็กหนุ่มเกิดความรู้สึกอับอาย จนเป็นเหตุนำไปสู่การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกหรือไม่!

แม้คณะครูอาจารย์จะปฏิเสธการกระทำหรือคำพูดใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กหนุ่ม แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความบอบบางของจิตใจวัยรุ่น ที่แม้จะแสดงความห้าวหาญฮึกเหิมขนาดไหน แต่เนื้อในคือความเปราะบางยิ่งกว่าปุยนุ่น โดยเฉพาะการถูกทำให้อับอาย เสียหน้า สูญเสียความมั่นใจในตนเอง อาจนำพาความแหลกสลายมาสู่หัวใจน้อย ๆ ดวงนี้ก็ได้

ผู้คน (ผู้ใหญ่) มากมายในสังคมไทยทุกวันนี้ แม้จะทำความผิดชั่วร้ายมากมายขนาดไหน ถูกจับได้ตรง  ๆ ก็ยังตีหน้าซื่อปฏิเสธไม่รู้เรื่องได้โดยไม่อับอายผีสาง เทวดาและฟ้าดิน แต่พอมีกรณีความผิดพลาดของเด็ก ๆ  เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็พร้อมจะชี้นิ้วกล่าวประณามหยามเหยียดจับผิดเด็กได้โดยลืมมองไปว่า เด็ก ๆ เรียนรู้และลอกเลียนพฤติกรรมมาจากผู้ใหญ่ หรือด้วยเหตุผลบางอย่างที่เขาต้องการอธิบาย การเปิดพื้นที่และโอกาสให้เขาได้บอกถึงเหตุผลแม้จะฟังดูไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม แต่เราทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้รับโอกาสพูดถึงเหตุผลของตนเอง

เมื่อไม่นานเกินจดจำมานี้ ที่พ่อแม่ชาวนาของวัยรุ่นคนหนึ่ง ณ โรงเรียนมัธยมจังหวัดนครราชสีมา ถูกครูสาวใหญ่ลงโทษด้วยการ “ดีดบ้องหู” ในห้องเรียนต่อหน้าเพื่อนหญิงชายวัยเดียวกัน เด็กหนุ่มรู้สึกอับอายกับวิธีการลงโทษนี้มาก โดยเฉพาะเมื่อเขารู้สึกว่า เหตุผลที่ครูลงโทษเขาลำพังทั้งที่เพื่อนทั้งห้องส่งเสียงดังพอ ๆ กัน แต่ครูเดินผ่านมาเห็นแต่เขาคนเดียวจึงเรียกไปทำโทษเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรม  ที่สำคัญโดนทำโทษวันแรกเขาพอจะทน แม้จะต้องพกพาเอาความอับอายกลับบ้านและหลบซ่อนตัวตามลำพัง พ่อแม่เห็นลูกนอนซมก็ไม่กล้ารบกวน จนรุ่งเช้าเขาไปโรงเรียนตามปกติ แต่ก็ถูกครูคนเดิมเรียกไป “ดีดบ้องหู” อีกครั้งอย่างไม่มีเหตุผล  เหมือนครูต้องการแสดงอำนาจและย้ำเตือนให้เขาต้องได้รับความอับอายเพิ่มมากขึ้น  ความโศกเศร้าเสียใจ  โกรธแค้นที่ตนเองอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องตนเองจากการถูกทำร้ายโดยครู    เจ็บใจที่โต้ตอบครูไม่ได้  ทั้ง ๆ ที่ถูกทำให้ต้องอับอายเสียหน้าเพื่อน ๆ หญิงชายวัยรุ่น  ครั้นจะหันหน้าไปปรึกษาพึ่งพาพ่อแม่ ท่านเป็นเพียงชาวนาชาวไร่ที่เจียมตัว ไม่กล้าโต้แย้ง ครูอาจารย์พูดอย่างไรก็อย่างนั้น  จึงเหมือนโลกจะมืดมน และว่างเปล่าเกินกว่าจะแบกรับได้ต่อไป ความทุกข์ ความเสียใจและพ่ายแพ้จึงต้องยุติลงในวันนี้กลายเป็นแรงจูงใจให้เขาตัดสินใจกินยาฆ่าหญ้าฆ่าตัวตาย แม้พ่อแม่มาพบก็สายเกินไป

 ด้วยเหตุนี้  ช่วงวันเวลาของวัยรุ่นบนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ที่ดึงดูดพละกำลังความสงบสันติออกจากจิตใจ ให้แปรเปลี่ยนเป็นความก้าวร้าวรุนแรง เพื่อต่อสู้กับฮอร์โมนที่พยายามเข้าครอบครองร่างกายและจิตใจของเจ้าของ   อิทธิพลของฮอร์โมนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทั้งทางบวกและทางลบของแต่ละคน  โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นและวัยหมดประจำเดือน การติดต่อสื่อสารจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด  

เคยถามหลายคนที่เอาชีวิตรอดจากการพยายามฆ่าตัวตายว่า  “ทำไมต้องฆ่าตัวตาย?”  แน่นอน...หลายคนบอกเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ  ของความรู้สึกผิดหวังในตนเอง  โกรธเสียใจในตนเอง แม้ส่วนใหญ่จะคิดว่าทำไปเพื่อทำร้ายคู่กรณี  ต้องการให้อีกฝ่ายตระหนักถึงความสูญเสียและเจ็บปวดเช่นเดียวกัน  ซึ่งในช่วงนั้นไม่ทันคิดหรอกว่า คู่กรณีอาจไม่ได้รู้สึกอย่างที่เราต้องการให้เขาคิดเลยก็ได้  เพราะฉะนั้นความคิดที่ทำไปเพื่อประชดหรือลงโทษผู้ที่ทำให้เราเสียใจ ผิดหวัง หรือเป็นคู่กรณีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน   จึงเป็นความเสี่ยงที่สูญเปล่าเสมอ  เช่นเดียวกับอีกมากมายที่กระทำไปเพื่อเป็นการลงโทษตนเอง  ค่าที่ไม่มีค่าเพียงพอจะทำให้ได้รับการยอมรับและความสำคัญ

อาจไม่ต่างจากกรณีเด็กหนุ่มคนนี้มากนัก ทันใดที่เขารู้ว่ามีคนรู้หรือถูกจับความผิดได้ เขาจะต้องคิดถึงพ่อแม่ว่าจะต้องอับอายเสียใจที่ลูกทำตัวไม่ดี โดยไม่ทันคิดว่า ไม่ว่าลูกจะทำผิดพลาดแค่ไหนและอย่างไร ไม่มีวันที่พ่อแม่จะหันหลังให้ ขอเพียงให้บอกท่าน ทางออกของปัญหามีอยู่เสมอ ไม่ว่าพ่อแม่จะเคยพูดบอกหรือไม่เคยบอกก็ตาม ลูกจะต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในความรักของท่าน หากที่ผ่านมาท่านดุด่าว่ากล่าวตักเตือน เคยพูดจาให้ลูกเสียน้ำตา ก็จงรู้เถอะว่าเพราะท่านไม่ต้องการเห็นลูกเสียใจและลำบากในอนาคต เพียงเพราะพูดถึงความในใจไพเราะ ๆ ไม่เป็น ไม่ได้หมายความว่าท่านประสงค์ร้ายต่อลูก แน่นอน...ลูกอาจรู้สึกผิดที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง แต่ถึงท่านจะผิดหวัง ลูกก็ไม่มีสิทธิ์จะคิดทำร้ายทำลายชีวิตตนเอง เพื่อเป็นการลงโทษตนเอง การที่ลูกลงโทษตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย ก็เหมือนลงโทษพ่อแม่ เพราะลูกคือหัวใจและลมหายใจของพ่อแม่เสมอ!

ครูอาจารย์ก็เช่นกัน การได้รับรู้พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมของนักเรียนไม่ว่ากรณีใด จะต้องนึกไว้เสมอว่า “เด็กนักเรียนไม่ใช่ผู้ร้ายหรือฆาตกร แต่เป็นเพียงการพยายามลองผิดลองถูกของเด็ก ๆ เท่านั้น!” นั่นคือหลีกเลี่ยงการ “ตราบาป” ให้นักเรียน เพราะความจริงก็คือ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ในวัยนี้ แม้เราผู้ใหญ่ทั้งพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับมาดี ไม่มีเด็กคนไหนต้องการทำความชั่วหรือทำผิด ทุกคนต้องการความเข้าใจ ต้องการโอกาส และต้องการความช่วยเหลือ หน้าที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับรู้คือ ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พฤติกรรมเด็กกลับมาดีเหมือนเดิม

กรณีนี้เช่นกัน เมื่อครูอาจารย์รับรู้ว่า นักเรียนเข้าไปหยิบเงินของเพื่อนจริง ๆ ดังปรากฏในกล้อง ก็เรียกเขาให้มาคุยกับครูอาจารย์ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เพื่อฟังคำอธิบาย “ครู”ไม่จำเป็นต้องประกาศตามสาย แม้จะไม่เอ่ยชื่อ  แต่การประกาศให้รับรู้ว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น เท่ากับเป็นการกระตุ้นความอยากรู้ของเด็ก ๆ ซึ่งในโรงเรียนเล็กขนาดนี้ ไม่นานเรื่องก็จะกระจายไปทั่ว  ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งในกลุ่มนักเรียน  และในกลุ่มครูอาจารย์ด้วยเช่นกัน

เมื่อหลายปีก่อน ทีมนักจิตวิทยาของมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ได้จัดโครงการ “ฮอทไลน์เคลื่อนที่สู่โรงเรียน”  คือทีมงานได้เดินทางไปให้ความรู้ในการปรับตัวของวัยรุ่น และให้บริการปรึกษาปัญหาวัยรุ่น แก่นักเรียนในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกล เพราะตระหนักว่า ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดย่อมจะมีปัญหาเหมือน ๆ กัน แต่คนกรุงเทพฯ เข้าถึงความช่วยเหลือได้มากกว่า การออกไปให้บริการต่างจังหวัดก็เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีสิทธิ์ที่จะปรึกษาฮอทไลน์ได้เช่นกัน

 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดในปีนั้น มีนักเรียนตั้งครรภ์กับเพื่อนชายคนหนึ่ง ซึ่งได้ไปขอความช่วยเหลือจากครูแนะแนว ซึ่งครูแนะแนวพึ่งจะเรียนจบมาไม่นาน ขาดประสบการณ์และที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยมีนักเรียนมาปรึกษาหรือมาใช้บริการนัก เมื่อมีนักเรียนตั้งครรภ์ระหว่างเรียนจึงดูเป็นเรื่องใหญ่มาก ครูแนะแนวจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาครูอีกหลาย ๆ คน ที่นั่งทำงานอยู่ในห้องพักครูด้วยกัน กลายเป็นเรื่องตื่นเต้น วิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความอยากช่วย อยากแสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นตอนเช้าที่แถวหน้าเสาธง  อาจารย์ใหญ่ได้นำเรื่องนักเรียนตั้งครรภ์ขึ้นมาพูด อบรม ตักเตือน โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง  ผลที่ตามมาคือนักเรียนหญิงคนนั้นได้ฆ่าตัวตายหนีอายในคืนต่อมา ทั้ง ๆ ที่ครูอาจารย์ทุกคนทำไปด้วยความรักและห่วงใยในเรื่องที่เกิดขึ้นแก่นักเรียน แต่กลับกลายเป็นความสูญเสีย เพราะอะไร?

ในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ นั้นถูกเปรียบเทียบว่าเหมือน “จับปูใส่กระด้ง” คือปูวิ่งกันพล่านไม่ยอมให้จับใส่กระด้ง เด็ก ๆ ก็เช่นกันไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย ๆ ง่าย ๆ ความอยากรู้อยากเห็น ความรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานในการเคลื่อนไหว แต่ขาดประสบการณ์ในการควบคุมป้องกันตนเอง อาจนำไปสู่ความประมาทพลาดพลั้งเสียหายและเสียชีวิตได้ ผู้ใหญ่จึงต้องมีความระแวดระไวสูง เช่นกัน ความอ่อนไหว ซุกซน หรือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนถึง “ไม่ปกติ” หรือ “ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่หรือคนทั่วไป  ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นเป็นปัญหาหรือเป็นภัยในสังคมต่อไป หากเด็กทำผิดพลาด สร้างปัญหาระหว่างเส้นทางการเจริญเติบโต ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์และผู้ใหญ่ทุกคน ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาส “แก้ตัว” หรือทำใหม่ ให้ถูกต้องถูกทาง จะโดยวิธีอบรมสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน หรือ ลงโทษสถานหนักเบาตามควรแก่เหตุ  ที่สำคัญคือภายในระยะเวลาที่ยืดหยุ่นได้

อย่างไรก็ตาม ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตของคนเราทุกวันนี้ เราต่างรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่สะท้อนความฉ้อฉลกลโกง ความรุนแรงของผู้ใหญ่ในทุกระดับทุกวงการ ทำให้คนดูอย่างเรา ๆ อยากมีส่วนร่วมอยากช่วยจนเหมือนจะกลายเป็นการทำงานแข่งกับสื่อต่าง ๆ ตลอดจนสื่อออนไลน์ ยิ่งหากเป็นเรื่องใกล้ตัวเช่น “กรณีของเด็กหนุ่มมัธยมห้าคนนี้” ขณะที่ผู้ปกครองพ่อแม่ที่บ้านยังไม่รู้เรื่อง แต่โลกภายนอกรับรู้กันหมดแล้ว เพราะเห็นจากกล้องวงจรปิดว่าใครอยู่ในกล้อง ก็สรุปว่าคนนี้ผิดแน่ ครูอาจารย์ฝ่ายบริหารของโรงเรียนอาจรู้สึกดีใจที่จับความผิดของนักเรียนได้เร็ว ทำให้เรื่องจบลงไว จะได้ยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคนทุกฝ่าย ถามว่าผิดไหมที่ครูอาจารย์คิดเช่นนั้น  ก็ตอบได้ว่า “ไม่ผิด!” แต่ครูอาจารย์อาจลืมไปว่า เขาเป็นแค่นักเรียนมัธยมห้าอายุ 17 ปี ไม่ใช่ฆาตกรหรือโจรที่ต้องรวบรัดจับเขาเข้าสู่กระบวนการพิพากษาตัดสินลงโทษให้ได้โดยเร็ว     

  ลำพังถ้าเป็นเด็กเล็ก เพียงแค่ถูกครูจับได้ว่า หยิบของเล่น ขนม หรือเงินของเพื่อนไป เด็กก็จะรู้สึกผิด อับอายและกลายเป็นปมด้อยอยู่ในใจ ทำให้เขารู้สึกไม่กล้าสบตาใครตรง ๆ รู้สึกว่าตนเองด้อย หรือไม่เหมือนกับเพื่อน ๆ ทั่วไป แต่นี่เขาเป็นวัยรุ่น เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่แบกโลกแห่งความกลัวไว้ทั้งใบในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มันหนักหนามากกับการถูกประณามว่าเป็น “ขโมย” เด็กทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะตกใจ กลัว อับอาย ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร เขาสับสนใจ อยากมีคนเข้าใจ อยากได้รับการอภัย เขาต้องการอ้อมกอดของพ่อแม่ เพื่อปลอบใจ ให้กำลังใจ ให้เขาก้าวต่อไป เขาไม่อยากมี “ตราบาป” อย่างที่ทุกคนกำลังทำต่อเขา

  ในความเป็นผู้ใหญ่ เป็นครูอาจารย์ เราทุกคนไม่มีใครไม่เคยผ่านเรื่องราวเช่นนี้ มันอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา เกิดขึ้นกับเพื่อน กับคนที่เรารู้จัก หรือจากที่เคยอ่านผ่านสื่อต่าง ๆ  นี่ไม่ใช่เรื่องราวใหม่ที่เพิ่งเกิด มันเกิดขึ้นมาโดยตลอด และเราเคยสัมผัสถึงอารมณ์ความเจ็บปวดเหล่านี้อย่างดี แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีสถานภาพทางสังคม มีตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญ ๆ เรากลับหลงลืมความรู้สึก ความต้องการของเด็ก ๆ เหล่านั้น  เราอาจสนใจแต่ความต้องการของตนเอง เราอาจสนใจแต่วัตถุหรือสิ่งที่เราจะได้ จะเป็น และจะมี ด้วยเหตุนี้เมื่อมีปัญหาเดิมเกิดขึ้น เช่นกรณีนักเรียนมัธยมห้าคนนี้ ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นเหมือนเดิม คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อไร “เรา”  จะเรียนรู้ในการจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดกันเสียที!


กลับด้านบน