มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....คามรัก....และความรุนแรง (ตอน) ผู้หญิง VS สิทธิสตรี

14 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....คามรัก....และความรุนแรง (ตอน) ผู้หญิง VS สิทธิสตรี

“สวัสดีค่ะ ตอนนี้หนูมีแฟนซึ่งคบกันมาสี่ปีแล้ว เขาเป็นแฟนคนแรกของหนูและมีความสัมพันธ์กันทางกาย เขาเป็นคนดีนะคะ แต่โดยส่วนใหญ่ในบางเรื่องของเขาหนูรับไม่ได้ เขาอารมณ์ร้อนโมโหร้าย พูดจาไม่เพราะ ไม่มีความรับผิดชอบในหลาย ๆ เรื่อง พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีเหตุผล เป็นคนที่ขี้หึงมากจนน่ารำคาญ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เลย เขาเคยตบตีหนูจนถึงขั้นเลือดตกยางออก คิ้วแตก หัวแตก ด้วยปัญหาแค่หนูไม่ได้รับโทรศัพท์ อยู่กับเพื่อนไม่สนใจเขา เวลาหนูไปพบเพื่อน ๆ ก็ต้องขออนุญาตทุกครั้ง และเขาต้องไปด้วยทุกครั้ง ถ้าเขาไปไม่ได้ หนูก็ไปไม่ได้ เพื่อนและคนรอบข้างเบื่อเขามาก ๆ รวมทั้งตัวหนูด้วย แต่เขาก็บอกนะคะว่าเขารักหนู แต่มันไม่เคยรู้สึกแบบนี้เลย

วันนี้เป็นวันที่หนูรู้สึกแย่มาก ๆ กับปัญหาชีวิตของหนูที่หนูไม่สามารถปรึกษาใครได้เลย เนื่องจากหนูไม่อยากให้พ่อกับแม่รับรู้เรื่องไม่ดี หนูรู้ว่าหนูทำผิดในหลาย ๆ เรื่อง พ่อกับแม่หวังไว้กับหนูมากแต่หนูกลับทำตัวแย่ ๆ คบผู้ชายไม่ดี เขาเป็นคนที่ขาดเรื่องเพศไม่ได้ หนูไม่รู้เหมือนกันว่าที่หนูคบกับเขาเพราะความสัมพันธ์ทางกาย หรือว่าหนูรักเขากันแน่ หนูไม่อยากเลิกเพราะเรื่องความสัมพันธ์นี่แหละค่ะ หนูกลัวว่าถ้าหนูมีคนรักใหม่ แล้วเขารู้ว่าหนูได้ผ่านอะไรมาบ้าง หนูกลัวเขาจะทิ้ง กลัวกลายเป็นคนที่ไม่มีค่ากับคน ๆ นั้น กลัวถูกคนอื่นมองว่าฟันแล้วทิ้ง ใจจริงคือ หนูอยากเลิกไปให้จบ ๆ แต่มันติดอยู่ที่ความสัมพันธ์ที่เคยมี ตอนนี้หนูอายุแค่ 21 ปี ยังเรียนไม่จบ และอีกอย่างหนูยังต้องเรียนที่เดียวกับเขาอีก ต้องคอยนั่งทำงานนู่น นี่ นั่น ให้ตลอด ต้องเจอหน้ากันทุกวัน แล้วแบบนี้จะทำใจได้ยังไงล่ะค่ะ จะรับมือกับคนประเภทนี้ยังไง ช่วยหนูที หนูไม่ไหวแล้ว และอยากจัดการปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวของหนูเอง ขอบคุณค่ะ

ในอดีตเมื่อประเทศไทยยังด้อยพัฒนา  สถานภาพของผู้หญิงยังต่ำต้อย  โอกาสในการเข้ารับการศึกษายังมีน้อย  นั่นหมายความว่า  ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง  จะต้องอยู่ในมือของพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนพ่อแม่เลือกสามีหรือผู้ชายให้ดูแลต่อไป  เมื่อแต่งงานอยู่กินกับชายใด  ชีวิตของผู้หญิงคนนั้นก็เหมือนอยู่ในกำมือของชายที่เป็นสามี  จะลำบากยากจนหรือสามีเลวร้ายขนาดไหน  ฝ่ายหญิงก็ต้องอดทน  เพื่อรักษาชีวิตตนเองและลูกให้รอด  โอกาสที่จะแยกทางเพื่อออกมาตั้งต้นชีวิตใหม่  หรือทำมาหากินด้วยตนเอง  ยังเป็นไปได้น้อยหรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยและการที่ต้องหย่าร้างหรือมีสามีใหม่  เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ  และมองว่า  ผู้หญิงไม่อดทนพอ  หรือผู้หญิงไม่ดีจึงมีสามีหลายคน  เป็นต้น  เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่มีทางเลือกในการดำเนินชีวิตเพื่อตนเองและลูกมากนัก

ครั้นเมื่อประเทศไทยมีการพัฒนาให้เท่าเทียมอารยประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หญิงและชายมีโอกาสเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา และผู้หญิงมีการศึกษาสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงชีพหรือทำงานเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัวได้มากกว่าที่ผ่านมา การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่และรัฐบาลทุกสมัยพยายามที่จะเสนอและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตลอดมา


อย่างไรก็ตาม  การเริ่มต้นพัฒนาทางการศึกษาในช่วงแรก  ยังมุ่งจะให้กรุงเทพมหานคร  หรือเมืองหลวงของประเทศไทยเป็นที่รวมของเศรษฐกิจและการศึกษา ปัญหาที่ตามมาคือ “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพมหานคร” นั่นคือมหาวิทยาลัยในทุกสาขาเริ่มต้นหรือสร้างขึ้นในกรุงเทพมหานคร  และต่อมาในจังหวัดศูนย์กลางของภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมืองศูนย์กลางของภาคเหนือ    มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางภาคออีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นต้น  นั่นหมายความว่า  ทุกครอบครัวที่อยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ก็จะมุ่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดศูนย์กลางภาคนั้น ๆ โดยเฉพาะเมื่อระบบการศึกษารวมศูนย์การสอบที่เดียว แต่นักศึกษาถูกกำหนดให้แยกกันไปเรียนตามภาคต่าง ๆ ตามลำดับคะแนนที่ตนสอบได้ นั่นคือคนเรียนเก่งมาก ๆ เท่านั้นจึงจะสอบผ่านเข้าไปเรียนในสถาบันที่ตนเลือกหรือต้องการได้ ที่เหลือขึ้นอยู่กับคะแนนที่ตนสอบได้ หรือหากสอบไม่ผ่านเข้าสถาบันใด  ก็ต้องรอสอบในปีต่อไป

แน่นอน.....โอกาสทางการศึกษาได้เปิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุลบุตรกุลธิดาสามารถเรียนรู้และมีวิชาเพื่อนำมาใช้ในการทำมาหากินช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป แต่ระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่เยาวชนไทย  ซึ่งในอดีตต่างเติบโตใช้ชีวิตในจังหวัดหรือชุมชนนั้น ๆ ของแต่ละภาค  ซึ่งอาจแตกต่างกันทั้งภาษาพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมและความเชื่อ  แต่ระบบการศึกษาที่ก้าวเข้ามาใหม่   ทำให้เยาวชนไทยทั่วทุกภาคเหมือนจะต้องจากบ้านและครอบครัว ไปกระจายกันอยู่ในภาคและจังหวัดที่สถาบันการศึกษานั้น  ๆ  ระบุเอาไว้ รวมทั้งคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนมากก็อาจต้องย้ายไปเช่าหอพักที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยหรืออยู่ในจังหวัดที่สถาบันการศึกษาที่ตนสอบเข้าเรียน


ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เยาวชนไทยหรือวัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  เพราะที่ผ่านมาต่างคุ้นเคยอยู่อาศัยและไปเรียนโรงเรียนใกล้ ๆ บ้าน  มีพ่อแม่พี่น้องคอยช่วยเหลือดูแลใกล้ชิด ไม่เคยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ตามลำพังในเมืองใหญ่ ปัญหาการต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปทำให้เยาวชนไทยมีความเครียดเพิ่มขึ้นจากระบบการเรียนการสอนที่เข้มงวดในสังคมไทย  นอกจากนั้นปัญหาการต้องปรับตัวกับเพื่อนใหม่ที่มาต่างครอบครัวต่างภูมิภาค ต่างความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี  และที่สำคัญคือ การต้องปรับตัวกับการเรียนและการคบหาเพื่อนต่างเพศ ซึ่งสร้างความสับสนขัดแย้งและปัญหาเพศสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นหญิงชาย  ที่ต่างจากวัฒนธรรมความเชื่อในอดีตของสังคมไทย  ดังกรณีที่เห็นได้ชัดเจนจากปัญหาของนักศึกษาข้างบนนี้


เธอเล่าว่า ได้คบกับแฟนหรือเพื่อนชายคนนี้มาสี่ปีแล้ว  นั่นหมายความว่าเธออาจรู้จักเขา เมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรก จนปีนี้อาจอยู่ปีสี่ เป็นไปได้ที่เธอเป็นเด็กสาวที่มาจากครอบครัวต่างจังหวัด เพราะคบหากับเพื่อนชายมาสี่ปีแต่พ่อแม่ไม่รู้เรื่องนี้  ที่สำคัญคือ เธออาจได้ชื่อว่าเป็นเด็กหอ หรือเช่าห้องเช่าหออยู่ตามลำพังทำให้ฝ่ายชายสามารถไปมาหาสู่ได้ง่าย และนอกจากเธอจะเป็นเหยื่ออารมณ์ทางเพศของเขาแล้ว  เขายังทำร้ายร่างกายเธอเสมอมา  โดยที่เธอไม่กล้าจะเล่าให้ใครฟังโดยเฉพาะพ่อแม่ของเธอ


ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายที่เป็นคนรักกัน สังคมคาดหวังว่าหญิงชายจะไม่เกี่ยวข้องทางเพศกันจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน การคบหาเพื่อนต่างเพศของหญิงสาวมักจะอยู่ในสายตาพ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อน ๆ  อย่างใกล้ชิด แต่เมื่อหนุ่มสาวต้องออกจากบ้านมาอยู่หอพักตามลำพังในเมืองใหญ่  เช่นในกรุงเทพมหานครนั้น นักศึกษาหญิงชายจำนวนมาก มีความรู้สึกแปลกแยก  โดดเดี่ยว  เงียบเหงาเดียวดายและหวาดกลัว  เมื่อพบเพื่อนต่างเพศที่ตนพึงพอใจ ก็หวังยึดไว้เป็นที่พึ่งทางกายและทางใจ  โดยไม่รู้ประวัติหรือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของคนคนนั้นมาก่อน ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเนิ่นนานไปจึงตระหนักถึงภัยและปัญหาที่เกิดขึ้น  ดังกรณีที่เธอเล่าว่า   

“เขาอารมณ์ร้อน โมโหร้าย พูดจาไม่เพราะ ไม่มีความรับผิดชอบในหลาย ๆ เรื่อง พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีเหตุผล เป็นคนที่ขี้หึงมากจนน่ารำคาญ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เลย เขาเคยตบ ตีหนูจนถึงขั้นเลือดตกยางออก คิ้วแตก หัวแตก ด้วยปัญหาแค่หนูไม่ได้รับโทรศัพท์ อยู่กับเพื่อนไม่สนใจเขา เวลาหนูไปพบเพื่อนๆ  ก็ต้องขออนุญาตทุกครั้ง และเขาต้องไปด้วยทุกครั้ง ถ้าเขาไปไม่ได้ หนูก็ไปไม่ได้ เพื่อนและคนรอบข้างเบื่อเขามาก ๆ รวมทั้งตัวหนูด้วย แต่เขาก็บอกนะคะว่าเขารักหนู.....”


อย่างไรก็ตาม  แม้เธอจะยอมรับว่า เธอเบื่อเขา  ไม่ชอบพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  นิสัยอันธพาล  หึงหวงอย่างไม่มีเหตุผล  ไม่มีความรับผิดชอบอารมณ์รุนแรงและมีความต้องการทางเพศสูง  การคบหาอยู่ด้วยกัน ทำให้เธอกลายเป็นเหยื่อ  หรือกระสอบทรายให้เขาทำร้ายทุบตีเสมอมา  ถึงกระนั้นเธอก็ไม่กล้าที่จะก้าวออกมา  เพียงเพราะเขาบอกว่า  “เขารักเธอ!” ส่วนเธอเองก็ไม่แน่ใจว่าทนอยู่กับเขาได้เพราะเธอรักเขา  หรือเพราะเขารักเธอ  หรือเพราะเขาและเธอมีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้ว  การที่เธอตอบสนองต่อความต้องการทางเพศของเขา อาจหมายถึงการตอบสนองความต้องการทางเพศของตัวเธอเองด้วยเช่นกัน....ความรู้สึกสับสนขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เธอวนเวียนอยู่กับการปล่อยตนเองให้ถูกเอาเปรียบทางเพศ   โดยไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากครูอาจารย์หรือผู้ใหญ่  แม้จะถูกเหยียบย่ำทำร้ายร่างกายและทำให้เธอรู้สึกผิด อับอายในการกระทำของตนเอง  แต่เธอก็ไม่สามารถปกป้องตนเอง  หรือตระหนักในสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยในโลกนี้ได้  

คำถามคือ  ทำไมเด็กสาวที่มีการศึกษาสูงระดับอุดมศึกษา  กล้าใช้ชีวิตในรูปแบบของคนรุ่นใหม่  มีเพศสัมพันธ์ มีการอยู่กินกับเพื่อนชายก่อนการแต่งงาน  แต่เมื่อเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์   กลับยึดถือทัศนคติของคนรุ่นเก่า  คือกลัวว่าจะถูกประณามว่าผ่านผู้ชายมาแล้ว  ไม่บริสุทธิ์  หากพบคนใหม่กลัวเขาจะไม่เลือกเรา  ก็เลยต้องทนอยู่อย่างนี้  ไม่กล้าจะลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อปกป้องดูแลตนเอง  เธอไม่กล้าจะเป็นฝ่ายเลือก!  เลือกผู้ชายที่เขาเห็นคุณค่าของเธอ ในฐานะที่เป็นคนดีมีการศึกษา แต่เธอกลับรอที่จะเป็น “คนที่ถูกเลือก”ถ้าฝ่ายชายไม่เลือกเธอ  ก็รู้สึกว่าตนเองไม่มีราคา  เหมือนกับว่าขาดผู้ชายแล้วเธอจะอยู่ด้วยตนเองไม่ได้? 

พฤติกรรมที่ขัดแย้งกับทัศนคติตรงนี้  เป็นประเด็นสำคัญที่นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์  หรือผู้ทำหน้าให้บริการปรึกษาแนะนำจะต้องช่วยสะท้อนให้เธอได้มองเป็นปัญหาของตนเอง จัดเตรียมข้อมูลที่เธอควรรู้แต่ไม่รู้ เช่น  สิทธิสตรี  กระบวนการทางกฎหมายกรณีถูกทำร้ายร่างกาย  และที่สำคัญคือ การช่วยบำบัดเยียวยาสภาพจิตใจให้เธอมีความเข้มแข็ง เห็นคุณค่าของตัวเอง  และสามารถตัดสินใจเลือกทางออกที่เหมาะสมให้กับตนเองได้ต่อไป

อนึ่ง นักศึกษาทุกคนทุกสถาบัน ทั้งหญิงชายควรได้รับการชีแนะ  จากพ่อแม่  ครูอาจารย์โดยเฉพาะ “อาจารย์แนะแนว” ให้ทุกคนตระหนักอย่างชัดเจนในการที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเรามาศึกษาเล่าเรียน  ด้วยหวังว่าลูก ๆหรือนักศึกษาจะได้เล่าเรียนวิชาการเพื่อนำกลับไปใช้ในการทำมาหาเลี้ยงตัวเองต่อไป  พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูก ๆยืนหยัดเพื่อปกป้องดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระของผู้หนึ่งผู้ใด  หากลูก ๆ เข้าใจความเหนื่อยยากของพ่อแม่  ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน ปัญหาความรุนแรง คงจะไม่เกิดขึ้น หรือลดจำนวนลง


กลับด้านบน