มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครูแนะแนวทำทุกอย่างยกเว้นแนะแนว

15 ธันวาคม 2563
ครูแนะแนวทำทุกอย่างยกเว้นแนะแนว

อาจารย์คะหนูขอปรึกษาหน่อย  คือหนูมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายตลอดมา  คือไม่ไว้ใจใคร เวลาคุยกับใครก็มักคอยจับผิดคนอื่นตลอดเวลา และก็ไม่ค่อยเปิดเผยตนเองให้ใครรู้จัก จนบางครั้งรู้สึกตนเองไม่มีเพื่อนสนิทเลย จึงทำให้รู้สึกเหงา พยายามไว้ใจใครแต่ก็ติดอยู่ที่ความคิดเดิม ๆ แม้แต่คนที่มาจีบก็คิดระแวงว่า เขาจะมาหวังอะไรในตัวเราหรือเปล่า ก็เลยไม่มีแฟนจนมาถึงทุกวันนี้  ไม่มีความสุขเลยค่ะ  รู้สึกว่าขวางโลกยังไงก็ไม่รู้

ก็มีเรื่องฝังใจที่คิดอยู่ตลอดเวลา  คือเมื่อก่อนนี้เป็นคนเรียนดี  ก็เป็นคนที่ไม่เคยทำอะไรผิด ถือว่าเป็นเด็กดี ให้ความเคารพครูอาจารย์ทุกคน พอจบมัธยมหกที่โรงเรียน จะมีการพิจารณาทุน (ทุนนี้เรียนไปแล้ว 1 ปีจึงเรียกกลับมารับ) ซึ่งปกติคนที่อยู่อันดับต้น ๆ มักจะได้ นอกเสียจากว่าจะมีฐานะร่ำรวย ซึ่งไม่ใช่หนูแน่นอน  แต่ปรากฏว่าหนูไม่ได้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเสนอชื่อหนูออกจากการพิจารณาทุน เป็นผู้หญิงและเป็นอาจารย์แนะแนว อาจเป็นเพราะหนูไม่ยอมเรียนในสิ่งที่อาจารย์คนนั้นแนะนำ และเธอมักจะย้ำว่าหนูไม่มีทางเรียนในสิ่งที่เลือกนี้ได้ แต่หนูก็สามารถเรียนได้ดี ด้วยความพยายามของหนูเอง แต่เธอมาทำอย่างนี้ ทำไมอาจารย์ถึงรังแกนักศึกษาอย่างนี้  ทั้ง ๆ ที่หนูก็ตั้งใจเรียนแล้ว หมดศรัทธาค่ะ เรื่องนี้มันติดอยู่ในใจมาสี่ปีแล้ว อยากลืมไม่อยากคิด โมโหค่ะ ไม่ชอบการใช้อำนาจแบบนี้ เคยคิดถึงขั้นไม่อยากมีคนแบบนี้ร่วมโลก ไม่ได้คิดฆ่าตนเอง แต่จะทำคนอื่นแทนอาจารย์ กลัวตนเอง กลัวนิสัยตนเองค่ะ นึกขึ้นมาทีไรก็โมโหทุกที หนูควรเปลี่ยนความคิดตนเองยังไงดีค่ะ ถึงจะลืม หรือเข้าใจโลกมากขึ้นกว่านี้ ขอบคุณค่ะ”

 

สมัยที่ผู้เขียนเรียนหนังสือตั้งแต่ประถม  จนจบมัธยมปลาย ใน พ.ศ. 2508 นั้นเราไม่เคยรู้จักคำว่า  “ครูแนะแนว”  เพราะครูประจำชั้นจะใกล้ชิดกับนักเรียนมาก หรือหากครูสาว ๆ สวย ๆ คนไหนใจดี เด็ก ๆ ก็จะติด มีอะไรก็จะไปพูดคุยปรึกษา ทั้งเรื่องวิชาที่เรียน และปัญหาครอบครัว แต่วิธีให้คำปรึกษาแนะนำนั้นไม่ได้เป็นทางการ ปกติแล้วนักเรียนชอบพูดคุยปรึกษาเพื่อน ๆ ด้วยกันมากกว่าเพราะปัญหาส่วนใหญ่ก็มักจะเหมือน ๆ กัน คือพ่อที่บ้านมีเมียน้อย ติดสุรา หรือติดการพนัน ไม่ส่งเสียดูแลครอบครัวที่บ้าน แม่ทำงานหนักต้องคอยดูแลลูก ๆ ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา นักเรียนคุยกันอย่างเปิดเผยและไม่ถือสาจริงจัง พอฟังเพื่อนเสร็จก็ชวนกันไปวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมที่เราชอบ  สถานภาพของนักเรียนไม่ว่ามาจากครอบครัวมีฐานะหรือยากจน  ก็จะดูเหมือน  ๆ  กันไม่มีข้อแตกต่างหรือช่องว่างมากนัก วันเสาร์อาทิตย์หากครูว่าง  ก็จะนัดให้ไปเที่ยวบ้านครู  จำได้ว่ามีครูสาวคนหนึ่งมาจากครอบครัวคนจีน ที่บ้านทำสวนฝรั่งแถวสีลม เด็ก ๆ ชอบไปเที่ยวบ้านครูคนนี้มาก เพราะครูใจดีและยังโสดทำให้มีเวลาให้กับลูกศิษย์ หากใครเรียนวิชาไหนไม่ทัน ครูอาจารย์ท่านจะนัดนักเรียนไปเรียนพิเศษเป็นกลุ่มที่บ้านครู  การติวหรือเรียนพิเศษนี้เราเรียนฟรี ไม่ว่าจะติวก่อนสอบหรือก่อนจะสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย  นักเรียนสมัยก่อนจึงไม่เคยเสียเงินค่าเรียนพิเศษ!


แต่ถึงแม้โรงเรียนจะไม่มีครูแนะแนว ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่มีปัญหา นักเรียนส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องอารมณ์ เรื่องการคบหาเพศตรงข้ามหรือหลายคนก็มีแฟนตั้งแต่ยังเรียนมัธยมต้น หลายคนลาออกไปแต่งงาน ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากโรงเรียนของเราเป็นหนึ่งในโรงเรียนสตรีมีชื่อ  นักเรียนหญิงทุกชั้นเรียนอยู่ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของครูอาจารย์ นักเรียนหญิงไม่ค่อยรู้จักพูดจากับผู้ชาย หรือนักเรียนชาย   นักเรียนจะได้พบปะเพศตรงข้ามเฉพาะเทศกาลพิเศษ เช่น  ช่วงการแข่งกีฬา การจัดงานวิทยาศาสตร์ หรือช่วงเวลาแข่งขันการโต้วาที แต่งกาพย์กลอน วันปิยมหาราชฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักเรียนวัยรุ่นจะได้มีโอกาสสบตา พูดคุย และสื่อสารผ่านการประชันกันด้วยวาทศิลป์ เราจึงอยู่ในโลกของจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ ที่จะรู้จักพูดคุยกันจริง ๆ ก็ต้องรอเรียนให้จบมัธยมปลายแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้จึงจะเจอกัน นั่นหมายความว่า  โรงเรียนสตรีล้วน หรือชายล้วนส่วนใหญ่  ก็มุ่งเน้นให้นักเรียนเรียนเก่ง หากนำคะแนนการสอบปลายปีมาเรียงกันทั่วประเทศแล้วอยู่ในจำนวนรายชื่อ 50 คน ของทั้งหมด  ก็จะได้รับการยกย่องว่านำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนนั้น ๆ ยิ่งมีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดได้มาก ยิ่งเป็นหน้าเป็นตาของครูอาจารย์ในโรงเรียนนั้น ๆ เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ทุกโรงเรียนส่วนใหญ่สมัยนั้น จึงดูเหมือนจะมุ่งสนใจและให้ความสำคัญกับนักเรียนเรียนเก่ง เพื่อชื่อเสียงและหน้าตาของโรงเรียนเป็นสำคัญ


หลังจากนั้นหลายปีที่ผู้เขียนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และทำงานด้านเยาวชนกับองค์กรต่างประเทศ ก็พบว่าสถาบันการศึกษาหรือองค์กรเยาวชนนั้น จะให้ความสำคัญกับปัญหาด้านอารมณ์ของวัยรุ่นมากกว่าจะสนใจมุ่งเน้นด้านวิชาการ พร้อมกับประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หากสุขภาพจิตของนักเรียนดี   ไม่เครียด  ไม่เกลียด ไม่กลัวแล้ว การศึกษาหรือวิชาการต่าง ๆ จะเรียนได้ง่ายมากกว่าที่เคยเรียน นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจของวัยรุ่น  หรือทำอย่างไรให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนให้ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่ออารมณ์โกรธ เกลียดหรืออารมณ์รักอารมณ์ใคร่ อย่างที่เราส่วนใหญ่เคยผ่านและพบมาแล้ว


เมื่อมาเริ่มก่อตั้งศูนย์ฮอทไลน์ หรือมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ บริการให้คำปรึกษาแนะนำหรือ  Counseling ตามหลักวิชาการที่เรียนมา แต่จากประสบการณ์อันยาวนานในการทำงานให้บริการปรึกษาแนะนำ จึงนำพื้นฐานและกระบวนการมาปรับปรุงตกแต่งด้วยภาษาไทย และรักษาวัฒนธรรมประเพณีให้เป็นไทย ๆ ให้มากที่สุด และใช้หลักสูตรนี้ในการฝึกอบรมนักวิชาชีพที่สนใจทำงานด้านการการให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์ (Telephone Counseling) และ การให้คำปรึกษาแนะนำโดยตรง (Face to face Counseling) ในภาษาไทยซึ่งมีความละเอียดอ่อนและตอบสนองต่อจริตของคนไทยให้เข้าใจได้เร็วกว่าจะนำหลักสูตรตะวันตกมาใช้ทั้งหมด


พร้อมกันก็ได้จัดโครงการฮอทไลน์เคลื่อนที่ สู่โรงเรียนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ด้วยความเชื่อว่า ไม่ว่าเด็กที่เรียนดีเรียนเก่งหรือเรียนไม่เก่ง และมาจากฐานะทางครอบครัวรวยหรือยากจนล้วนมีปัญหาเหมือน ๆ กัน เรียกว่าปัญหาของวัยรุ่น อันประกอบไปด้วย ปัญหาการเรียน เพื่อน เพื่อนต่างเพศ  ความรัก ครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ อันอาจนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ระหว่างการเรียน ตลอดจนอาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางกาย เช่น ซิฟิลิส   กามโรค โรคเอดส์ เป็นต้น


ในกระบวนการหรือขั้นตอนของโครงการฮอทไลน์เคลื่อนที่สู่โรงเรียน เริ่มจากติดต่อกับแผนกแนะแนวหรือฝ่ายบริหารโรงเรียนนั้น ๆ ว่าจะยอมให้ทีมงานนักจิตวิทยาฮอทไลน์ เข้าไปจัดบอร์ดให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตกับเด็ก ๆ โดยฮอทไลน์จะใช้เวลาห้าวันในการทำงานให้บริการปรึกษาแนะนำกับเด็ก ๆ ในห้องเรียนในชั่วโมงแนะแนวของแต่ละวัน โดยเริ่มต้นที่การแจกแบบฟอร์มตรวจสอบสุขภาพจิตและปัญหาที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทุกชั้นเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้นดึงแบบฟอร์มที่เราพบว่า  มีความเสี่ยงสูงสมควรได้พบนักจิตวิทยาทันที เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนตระหนักว่า หากนักเรียนเครียดหรือมีปัญหาหาทางออกไม่ได้สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาพี่  ๆ ที่ฮอทไลน์ได้ สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาอื่น ๆ เราจะจัดแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น  กลุ่มมีปัญหาครอบครัว เพื่อน ความรัก ความรุนแรงในครอบครัวตลอดจนปัญหาการถูกลวนลามทางเพศ  เป็นต้น


การจัดกลุ่มตามหัวข้อมีนักจิตวิทยาหนึ่งหรือสองคนนั่งประจำกลุ่มเพื่อดำเนินการทำ กลุ่มบำบัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันและนักจิตวิทยาจะเป็นผู้สรุปทางออกให้เด็ก ๆ บ่อยครั้งนำประเด็นที่เด็ก ๆ สนใจเหมือน ๆ กันเช่น  ปัญหาความรักหรือการคบเพื่อนต่างเพศ  ก็จะนำมาพูดให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมกัน ๆ ในห้องเรียน วิธีนี้ช่วยให้นักเรียนคลายเครียด และรู้สึกว่าหากพูดคุยกับพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้ก็สามารถใช้บริการของศูนย์ฮอทไลน์ได้ พร้อมกันทีมงานศูนย์ฮอทไลน์ได้พยายามดึงครูแนะแนวในโรงเรียนนั้น ๆ มาศึกษาวิธีการและมีส่วนร่วมในการให้บริการด้านสุขภาพจิตกับนักเรียน ไม่มุ่งเน้นหรือทำเพียงแค่แนะแนวทางการศึกษาเท่านั้นเอง อยากให้ครูแนะแนวให้เวลาในการฟังและพูดคุยกับเด็ก ๆ มากกว่านี้ แต่ครูแนะแนวส่วนใหญ่ส่ายหัวปฏิเสธ โดยบอกว่า ครูแนะแนวไม่มีเวลามาทำอย่างนักจิตวิทยาศูนย์ฮอทไลน์หรอก และบางโรงเรียนชี้ให้ศูนย์ฮอทไลน์ดูป้าย ที่ครูแนะแนวเขียนป้ายติดไว้หน้าห้องแนะแนว  ว่า “ครูแนะแนวทำทุกอย่าง ยกเว้นแนะแนว”


นั่นคือ...ถึงวันเวลาจะผ่านมานานขนาดไหน แต่ทัศนคติของครูใหญ่/ผู้อำนวยการ หรือฝ่ายบริหารก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ พิจารณาว่าการเรียนให้ดีให้เก่งเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ สำคัญกว่าปัญหาอื่น ๆ หรือปัญหาอารมณ์ของเด็ก ๆ เพราะฉะนั้นครูแนะแนว  จึงถูกนำมาใช้ในกิจกรรมที่ครูอื่น ๆ หรือฝ่ายบริหารไม่มีเวลาจะทำ เช่น การออกไปขอทุนการศึกษาให้เด็ก ๆ ที่สถาบันทางการเงิน ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ขอทุนว่ายากจนจริงหรือไม่ หรือจัดทำบอร์ดนิทรรศการ จัดงานรื่นเริงประจำปี เป็นต้น สรุปแล้ว ครูทุกคนรับรู้ว่านักเรียนมีปัญหาการปรับตัวกับเพื่อน ๆ การคบหากับเพื่อนต่างเพศ แต่ครูแนะแนวไม่มีเวลาที่จะให้ในการให้บริการปรึกษาแนะนำแก่นักเรียน หรืออาจจะมองข้ามว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเด็กก็ลืม!


การที่พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน หรืออยู่กับลูก ๆ ในวันที่เด็กต้องการความเข้าใจใกล้ชิด คำอธิบายในรายละเอียด ดังเช่นทุกวันนี้ที่เราปล่อยลูก ๆ ให้อยู่กับสื่อโทรทัศน์ทำให้เด็ก ๆ ลอกเลียนพฤติกรรมดังกล่าวจากสื่อต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกับที่ครูอาจารย์ไม่มีเวลาจะให้กับนักเรียน วัยรุ่นที่ถูกกระตุ้นด้วยความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ส่งผลให้จิตใจสับสนขัดแย้ง ท้อแท้คับข้องใจ อัดอั้นตันใจ ปนด้วยอารมณ์โกรธ โกรธพ่อแม่ โกรธเพื่อน ๆ โกรธครูอาจารย์ โกรธอะไรบ้างบางทีก็ไม่รู้ แต่อารมณ์ฮึดฮัดกลัดกลุ้มขุ่นมัวมันคุกคามลุกลามเข้าไปในความคิดจิตใจ จนต้องพยายามหาทางยุติความขุ่นมัวนั้นทั้งปวง สภาพปัญหาเด็กแว้น ปัญหาการทุบตีฆ่าฟัน  การทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรง เกิดขึ้นก็เพราะนักเรียนวัยรุ่นต้องการคนเข้าใจ ต้องการให้มีผู้ใหญ่ฟังเขาบ้าง  แต่ไม่มีใครฟัง สุดท้ายเขาก็ต้องการทำบางอย่างให้ปรากฏให้ผู้ใหญ่ได้เห็นถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ในหัวใจของเขา!


แน่นอน.....ทุกครั้งทุกที ที่ทีมนักจิตวิทยาเข้าไปในโรงเรียนทุกโรงเรียนที่ร้องขอให้ศูนย์ฮอทไลน์ไปเยี่ยมและให้บริการนักเรียน เมื่องานบริการให้คำปรึกษาแนะนำยุติลง นักจิตวิทยาจะทำรายงานสรุปกิจกรรมทั้งหมด ระบุปัญหาที่ครูแนะแนวต้องติดตาม และควรจะต้องทำต่อ เพื่อสุขภาพจิตของนักเรียนจะได้รับการบำบัดเยียวยาและพัฒนาต่อไป เนื่องจากศูนย์ฮอทไลน์เป็นองค์กรเอกชนหรือเอนจีโอ ไม่สามารถจะเข้าไปช่วยให้บริการนักเรียนในแต่ละโรงเรียนอย่างต่อเนื่องทั่วถึงทั้งหมดได้  เราเป็นทีมเฉพาะกิจนำบริการมาถึงโรงเรียน เมื่อว่างจากงานประจำ ด้วยความหวังว่าเราจะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ลิ้มรสความสดชื่นเป็นครั้งคราว แต่ความหวานทั้งหลาย ครูอาจารย์ในแต่ละโรงเรียนสามารถป้อนให้เด็ก ๆ  ได้ และช่วยให้เขาได้มีกำลังใจ มีพลังใจ ที่จะก้าวเดินและเจริญเติบโตเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป 


ที่สำคัญ การจะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของครูแนะแนวได้  ครูอาจารย์ทุกระดับต้องกำจัดปัญหาและอุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้นักเรียนเข้าถึงความช่วยเหลือได้ เริ่มจากครูใหญ่หรือผู้อำนวยการ  ฝ่ายบริหาร ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูแนะแนว ได้ทำงานทั้งการแนะแนววิชาอาชีพ และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำกับนักเรียนด้านอารมณ์ ปัญหาการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัวพ่อแม่ ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อน ๆ หรือเพื่อนต่างเพศ ตลอดจนปัญหาการเรียน  ครูอาจารย์ต้องเข้าใจด้วยว่า ช่วงวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้วัยรุ่นอ่อนไหว อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ บ่อยครั้งพร้อมจะแสดงพฤติกรรมที่ต่อต้านรุนแรง การให้เวลารับฟังปัญหาของนักเรียน เด็ก ๆ อาจไม่ต้องการทางแก้ไข  ขอเพียงความเข้าใจและให้กำลังใจเท่านั้น เด็ก ๆ ที่มีปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่ได้ดูแลอบรมสั่งสอนหรืออาจดุว่าด่าทอจนเด็กเบื่อ  นักเรียนเหล่านั้นจึงหันมาขอความช่วยเหลือ ความเข้าใจ กำลังใจจากครูอาจารย์ หากทางโรงเรียนไม่ใส่ใจ  ไม่มีให้ เด็ก ๆ ก็จะจับกลุ่มหาทางปกป้องช่วยเหลือกันเองด้วยการ ออกไปทำกิจกรรมบนท้องถนน อันนำไปสู่อันตรายหรือปัญหาที่รุนแรงซับซ้อนมากขึ้น ดังที่เราได้พบเห็นกันทุกวันนี้  


นอกจากนั้นฝ่ายบริหารหรือผู้อำนวยการต้องเห็นความสำคัญของครูแนะแนว และให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ครูแนะแนวได้ช่วยเหลือดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ๆ แล้ว ครูแนะแนวที่เรียนจบมาทางด้านนี้ ต้องพยายามฝึกฝนให้ตนเองมีความรู้ มีทักษะในการให้คำปรึกษาแนะนำกับวัยรุ่น สะสมประสบการณ์ และเข้าใจปัญหาของวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้คนผู้นำทางสังคมโดยเฉพาะการชี้นำโดยสื่อและเทคโนโลยี ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะพบว่า ครูแนะแนวหมกมุ่นอยู่กับการพยายามให้นักเรียนเรียนเก่ง หรือวิ่งตามสมัยนิยม มากกว่าจะพยายามเข้าใจถึงความบาดเจ็บในหัวใจของวัยรุ่น ที่รอการบำบัดเยียวยาด้วยความเมตตา ดังในกรณีนี้


กรณีเด็กสาวที่ปรึกษาและระบายความทุกข์ ความเสียใจ อันสืบเนื่องจากงานบริการของครูแนะแนว  เริ่มจากความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าที่มาจากครอบครัวยากจน เกรงเพื่อน ๆ ครูอาจารย์จะดูถูก แต่เธอก็ได้พยายามประพฤติปฏิบัติตนอย่างดี การเปิดเผยเรื่องราวให้ครูแนะแนวรับรู้ก็หวังว่าครูแนะแนวจะเข้าใจ  แต่เพราะครูแนะแนวมุ่งแต่จะแนะนำเรื่องวิชาที่เธอควรเรียน และอาจต้องการให้นักเรียนเชื่อฟัง หรือทำตามความคิดเห็นของเธอ เมื่อนักเรียนไม่ทำตาม ทำให้ครูแนะแนวไม่พอใจ อาจคิดว่านักเรียนหัวแข็งไม่เชื่อฟัง ครูควบคุมไม่ได้ หรือจริง ๆ อาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ครูไม่มีเวลาลงนั่งสื่อสารอธิบายให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเธอคิดอย่างไร ที่สำคัญเมื่อนักเรียนตัดสินใจเรียนวิชาอื่น ครูแนะแนวก็ต้องยอมรับให้กำลังใจเธอให้ทำให้ดีที่สุด  ที่สำคัญหากจะเสนอชื่อนักเรียนออกจากเงินทุน  ก็ต้องให้เวลาพูดคุยให้คำอธิบายเหตุผลว่ายังมีนักเรียนคนอื่นที่ยากจนกว่าและต้องการความช่วยเหลือมากกว่าหรือเพราะอะไร ครูต้องชัดเจนในการตัดสินใจและการแยกแยะเรื่องราว โดยเฉพาะในเรื่อง “เงินทุนการศึกษา” ซึ่งนักศึกษากำลังมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ แต่การปฏิเสธนักเรียนโดยไม่พูดอธิบาย กลายเป็นความบาดเจ็บที่เรื้อรังสำหรับหัวใจที่เปราะบางของวัยรุ่นมากมาย  


แน่นอน....เงินทุนอาจไม่มาก ไม่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป แต่สำหรับเด็กที่ขาดแคลนเป็นเรื่องใหญ่  เป็นความหวัง แต่หากครูอาจารย์กระทำการใด ๆ โดยไม่ได้คิดพิจารณาให้รอบคอบ แม้ไม่ได้เจตนาจะทำร้ายเด็ก ๆ แต่สำหรับเด็กมากมายในช่วงความเยาว์วัย เราไม่รู้ว่าเขาผ่านมรสุมชีวิตที่บ้านมารุนแรงแค่ไหน เมื่อมาอยู่ที่โรงเรียน เหมือนอยู่ในมือครู หากประคับประคองไม่ดี หัวใจดวงนี้อาจแหลกสลายหรือกลายเป็นบาดแผลใหญ่ที่ยากแก่การเยียวยา!


สำหรับเด็กสาวคนนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาสี่ปีแล้วแต่ความบอบช้ำของเธอไม่เคยลดลง เธอทุรนทุรายรุ่มร้อนอยู่ในความทรงจำของความ โกรธ เกลียด ผิดหวัง ความเศร้าโศกเสียใจ ความหวาดระแวง ความสับสนวุ่นวายใจ  เธอ  อยากจะก้าวออกมาจากความทุกข์นั้นแต่ยังทำไม่ได้ การจะช่วยเธอคือพาเธอไปรับการบำบัดเยียวยาสภาพจิตใจ จากนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ที่สามารถให้เวลาเธอบ่มเพาะความดีงามด้วยคำว่า “อภัย” ยาขนานสำคัญที่จะช่วยเธอได้ คือการรู้จักให้อภัยอดีต ให้อภัยคนที่เคยทำให้เราเสียใจช้ำใจ  ไม่ลากจูงความทุกข์ไว้กับตัว ปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวง เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว เราต้องก้าวข้ามความไม่ดีงามทั้งหลายไป และสร้างโลกใหม่ที่เราคิดว่าควรจะเป็น ด้วยศรัทธาที่เราจะต้องมีให้แก่ตนเอง  มีให้แก่คนอื่น ๆ และมีให้แก่โลกนี้นั่นเอง
!


กลับด้านบน