มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ
วิธีจัดการปัญหา

เรียนถาม อจ.ว่า สิ่งที่มูลนิธิทำ มีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก อ่านหลายกระทู้ มองย้อนตนเอง ก็มีประโยชน์ ให้แนวทางเทียบเคียงได้กับตนเองและใครอีกหลายคน อยากเรียนถามว่า อจ และทีมงาน รับปัญหา แล้ว มีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร และ บริหารใจหรือหลักคิดประจำใจของทีมงานคืออะไรบ้าง ทั้งที่วันๆมีแต่ปัญหาให้อจ.แก้ (ไม่เครียดตามปัญหาน้อยใหญ่ได้) กราบจิตงามๆ ของอจ และ ทีมงานไว้อย่างสูง ครับ

สมคิด
24 มิถุนายน 2561 07:38

คุณสมคิด ขอเวลาเรียงลำดับทางความคิดสักระยะ แล้วจะอธิบายให้ค่ะ

อาจารย์ อรอนงค์ อิทรจิตร
26 มิถุนายน 2561 13:59
Post อันดับที่ 1

แนวทางการให้คำปรึกษาแนะนำ โดยนักวิชาชีพ เพื่อช่วยให้ผู้มีปัญหาเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาของตนเอง ศึกษาทำความรู้จักผู้มาปรึกษา ในแต่ละปัญหาที่เล่าไป ส่วนใหญ่ก็จะสะท้อนบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความเชื่อ และหรือสภาพแวดล้อมของครอบครัว อุปนิสัยใจคอของผู้มีปัญหา หรือในอีกทางหนึ่งคือ มองหาจุดอ่อนจุดแข็งของผู้มีปัญหา ที่สำคัญคือ สังเกตว่าเขามีทักษะในการสื่อสารอย่างไร การใช้ภาษา สะท้อนมรรยาท การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว และการศึกษา คุณสมบัติส่วนตัวเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสะท้อนว่า ทำไมเขาจึงมีปัญหานั้น ๆ คุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ สำหรับผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำคือพวกเรา จะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษา นักบริหาร ฯลฯ ประสบการณ์ชีวิตนับว่าจำเป็นเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ ก็ผ่านการศึกษาในหลายสาขา คนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจะต้องมีความเชื่อว่า คนทุกคนมีปัญหา แต่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า คุณจะเผชิญกับปัญหานั้นอย่างไร มีทัศนคติทางบวกในการมองโลก มองตนเองและมองผู้อื่น ปกติคนที่มาปรึกษาต่างรู้ปัญหาของตนดีและมีทางออกอยู่แล้ว เพียงแต่ในยามที่ทุกข์ที่เครียด เขาจะเหมือนอยู่ในสถานการณ์ “ผงเข้าตา” และต้องการความช่วยเหลือให้มีใครสักคน รับฟังปัญหาของเขา ไม่โต้แย้ง จับผิด วิพากวิจารณ์ หรือทำให้เขารู้สึกแย่ อับอาย หรือมาตัดสินว่าเขาถูกหรือผิด คนจำนวนมากต้องการให้เราช่วยสะท้อนกลับพฤติกรรมการกระทำของเขา/เธอ เพื่อจะได้มองเห็นตัวเองมากขึ้น การปรึกษาโดยไม่เห็นหน้า ทำให้เขาไม่รู้สึกเสียหน้า ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องเข้าใจและให้เกียรติผู้ที่มาปรึกษา คือต่างฝ่ายต่างเคารพในกันและกัน นอกจากนั้นกรณีทีปรึกษาทางจดหมาย จะพบว่าทุกคนต้องการให้ตอบ หรืออยากให้แนะนำ ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจึงต้องมีความชำนาญเพียงพอในการจะแนะนำใคร และจะต้องจำไว้ว่า คำแนะนำที่ดีที่สุด หากคนที่มาปรึกษาทำไม่ได้ คำแนะนำนั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องดูว่าอะไรที่เขา/เธอพอจะทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือหากแนะนำไปแล้ว ถ้าผู้มาปรึกษาทำแล้วจะส่งผลเสียหายกับเขาเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร คนหลายคนอาจมีปัญหาเหมือน ๆ กันหรือคล้าย ๆ กัน แต่แต่ละคนมีทางออกของปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เพราะคนเหมือนกัน แต่คนไม่เหมือนกัน งานหลักของผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ คือ การช่วยให้ผู้มีปัญหาสามารถเข้าใจตนเอง มองเห็นตนเอง และพยายามคิด ตัดสินใจให้ได้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่จะ ยอมรับ เคารพ และใช้สิทธิส่วนบุคคลภายในขอบข่ายของตนและเคารพสิทธิผู้อื่นด้วยเช่นกัน และทั้งหมดนี้อาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่า ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำจะต้องถ่ายทอดหรือสอดแทรกความรู้/ข้อมูล และทักษะการติดต่อสื่อสารให้กับผู้มีปัญหา เริ่มจากการสื่อสารกับตนเอง เข้าใจและรู้จักตนเอง สามารถสื่อสารกับผู้อื่นและเข้าใจผู้อื่นด้วย คือเคารพในขอบข่ายสิทธิ(human right) ของกันและกัน ในฐานะของคนคนหนึ่ง บนพื้นฐานของความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย(gender) ผลกระทบส่วนบุคคลในการทำหน้าที่ อนึ่ง การทำงานด้านนี้ หรือการให้คำปรึกษาแนะนำ ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจะต้องฝึกตนเองให้แยกแยะตนเองออกจากปัญหา เหมือนคนสองคนนั่งลงทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาของคนหนึ่ง ทั้งสองช่วยกันคิดพิจารณา ช่วยกันหาทางออกของปัญหา ซึ่งจะมีทางออกมากกว่าหนึ่งเสมอ วางทางเลือกลง ให้เจ้าของปัญหาตัดสินใจเลือกว่าจะทำอะไรหรือไม่อย่างไร ให้เขารับผิดชอบชีวิตของเขา หรือเลือกวิธีจัดการกับปัญหาของตนเอง ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเสนอทางออก สะท้อนผลดีผลเสียทุกทางออกแล้ว งานของผู้ให้คำปรึกษาแนะนำก็จบ ที่เหลือผู้มีปัญหาต้องตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง นั่นคือเราไม่นำปัญหาของคนที่มาปรึกษามาเป็นปัญหาของตนเอง เพราะยังมีปัญหาของคนอื่น ๆ รอเราอยู่ และที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการทำงานของนักวิชาชีพผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานนักวิชาชีพของมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์จะบริการให้คำปรึกษาแนะนำแบบตัวต่อตัว (Face to face counseling/individual counseling) และทีมงานศูนย์ฮอทไลน์ได้พัฒนาเป็นการใช้โทรศัพท์ในการให้คำปรึกษา หรือ Telephone counseling ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนปัจจุบัน แต่เพิ่ม ให้คำปรึกษาทาง เวบไซด์ คือคอลัมภ์นี้ในปี พ.ศ. 2553 จนปัจจุบัน ส่วนทางโทรศัพท์ลดลงเพราะอาจารย์อรอนงค์สุขภาพไม่ดี และที่พยายามอยู่ขณะนี้ คือถ่ายทอด ทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ หรือ Counseling Skills ให้กับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ของหน่วยงานราชการให้มาทำงานด้านนี้เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงความช่วยเหลือมากขึ้น แต่ก็ยังทำได้ไม่มาก เพราะเป็นงานหนักและใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้สะสมประสบการณ์ และรักในการทำงานนี้ ซึ่งที่ผ่านมานักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ในประเทศเรา ไม่เคยฝึก Counseling อย่างจริงจังมาก่อนทำให้ขาดประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ในอดีต ประเทศไทยยากจน ประชาชนสนใจแต่ปัญหาปากท้อง หน่วยงานรัฐใช้บริการนักสังคมสงเคราะห์เฉพาะการบริจาค หรือช่วยด้านปัจจัย 4 หรือทำงานด้านเอกสาร แต่ปัจจุบัน คนไทยมีความสนใจและต้องการบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการดำเนินชีวิตในครอบครัว การใช้ชีวิตคู่ ปัญหาคู่สมรสและเรื่องของวัยรุ่นมากขึ้น และตลอดหลายสิบปีมานี้ ถึงประเทศไทยจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเมือง ธุรกิจและเทคโนโลยี่ ฯลฯ แต่การพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำหรือ Counseling ไม่มีใครพูดถึงและมองข้ามไปเพราะส่วนใหญ่ทั้งผู้ที่จบมาด้านนี้และฝ่ายบริหาร นักการศึกษาขาดความรู้ ขาดความเข้าใจและทำงานนี้น้อยมาก ทำให้เกิดความขาดแคลนนักวิชาชีพที่จะช่วยพัฒนาสังคมไทยในด้านนี้ในขณะนี้ และหากทีมนักวิชาชีพมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ไม่ดำเนินการพัฒนา บริการให้คำปรึกษาแนะนำเช่นปัจจุบัน ประเทศไทยจะขาดนักวิชาชีพที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ หรือาชีพนี้จะหายไปจากสังคมไทย หวังว่าข้อมูลนี้คงจะทำให้คุณสมคิดเข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมเราถึงมีปัญหาชีวิตกันมากมาย แต่หาคนทำงานให้บริการช่วยเหลือด้านนี้น้อยมาก หากสนใจ อ่านเรื่องราวของมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ข้างบนนี้ หรือในอีกสามเวบไซด์ของฮอทไลน์ ขอบคุณค่ะที่ให้กำลังใจ

อาจารย์ อรอนง์ อินทรจิตร
27 มิถุนายน 2561 13:30
Post อันดับที่ 2

กราบหัวใจงามๆ ของอจ.อรอนง และทีมงานทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ แทนผู้หาที่พึ่ง หาทางออกให้ตัวเองอีกมากครับ

สมคิด
27 มิถุนายน 2561 22:26
Post อันดับที่ 3

กราบหัวใจงามๆ ของอจ.อรอนง และทีมงานทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ แทนผู้หาที่พึ่ง หาทางออกให้ตัวเองอีกมากครับ

สมคิด
27 มิถุนายน 2561 22:26
Post อันดับที่ 4

กราบหัวใจงามๆ ของอจ.อรอนง และทีมงานทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ แทนผู้หาที่พึ่ง หาทางออกให้ตัวเองอีกมากครับ

สมคิด
27 มิถุนายน 2561 22:26
Post อันดับที่ 5

ตอบกระทู้


กลับด้านบน