มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ
บุตร

ก่อนอื่นกิ่งขอเล่าเรืองราวก่อนนะคะ กิ่งมีบุตรสามคนคนโตและคนที่สองเป็นผู้ชายคนเล็กเป็นผู้หญิง สามีรับราชการ กิ่งมีปัญหามากกับบุตรคนที่สองในเรื่องของการเรียนปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.4 จากเดิมเป็นเด็กที่เรียนดีเกรดเฉลี่ยสามกว่ามาโดยตลอดแต่พอมาถึงช่วงเทอมที่สองของม.2 การเรียนเริ่มแย่ลงเหลือเพียงสองกว่า และเมื่อมาถึงม.3เหลือแค่ 1กว่าจนแถบจะหาที่เรียนม.4ไม่ได้เลย แต่ด้วยความรักและเอาใจใส่กิ่งเองก็พยายามคุยและให้เหตุผลต่างๆนาในเรื่องความสำคัญของการเรียน และก็ได้เรียนต่อม.4 เมื่อเข้าเรียนม.4 ก็ไม่สนใจเรียนเท่าที่ควร ชอบทำตัวเด่น ต่อต้านคุณครู ไม่สนใจเรียน ไม่ทำงานส่ง สมุดหายเป็นประจำ ระดับเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2ในเทอมแรก แต่เทอมที่สองมีตก 8 ตัว และ มส อีก 2 ตัว ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งๆที่กิ่งเองพยายามคุยดี ทำดี ไม่เคยดุเลยสักครั้ง ให้ความสำคัญและเห็นลูกสำคัญเสมอ พยายามทุกอย่างหว่านล้อมทุกอย่างเพื่อให้ลูกรักในการเรียน ก็ดูเหมือนจะสำเร็จ แต่พอเข้ากลุ่มเพือนก็เป็นเหมือนเดิมอีก ทำแบบนี้มาเป็นระยะเวลาสองปีเศษแล้วจนถึงทุกวันนี้เริ่มเหนื่อยและท้อมาก จนอยากวางมือแต่ก็ทำไม่ได้ ปัจจุบันหาทางออกไม่ได้เลยมีแต่มุมมืด ไม่อยากเห็นลูกเป็นปัญหาของสังคม จะต้องทำอย่างไรดีคะ กิ่งเครียดมากจริงๆคะ

กิ่งแก้ว
27 กุมภาพันธ์ 2558 11:50

คุณกิ่ง การเลี้ยงดูลูกไม่มีสูตรสำเร็จ วิธีที่เราคิดว่าทำสำเร็จกับคนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาใช้กับอีกคนได้ ก่อนอื่นให้ตั้งสติไว้ว่า งานบางอย่างก็ง่าย งานหลาย ๆ อย่างก็ยาก เด็ก ๆ ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นลูกสามคนก็ยากง่ายต่างกัน ซ้ำอาจจะต่างช่วงเวลาด้วย เช่นคนที่สามตอนนี้ยังไม่มีปัญหา แต่อนาคตเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นตั้งสติมองเป็นเรื่อง ๆ เป็นคน ๆ ไป อย่าเปรียบเทียบว่าทำไมพี่หรือน้องเขาไม่มีปัญหา ก็มันคนละคนนะซิ! ที่สำคัญ เป็นเรื่องจริงที่ลูกคนกลางมักจะมีปัญหาสับสน แม้คุณจะเชื่อว่าดูแลอย่างดี ยุติธรรม หรือไม่ลำเอียง แต่บนเส้นทางของการดูแลอบรมสั่งสอน เราไม่รู้เลยว่าเรา พ่อแม่ทำผิดบกพร่องตรงไหน ทำไมลูกจึงรู้สึก หรือ คิดเช่นนั้น บางทีก็อาจเป็นเพราะธรรมชาติทางความคิดอันซับซ้อนของเขาเองที่เราเองก็ตามไม่ทัน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่า เรามีหน้าที่อบรมสั่งสอนดูแลลูก ก็จริง แต่ที่จริงย่ิงกว่าคือ พ่อแม่เองก็ต้องศึกษาลูกด้วยเช่นกัน ลูกแต่ละคนมีความซับซ้อนต่างกัน บางทีก็ต้องทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ (บางทีกว้าเราจะรู้จักเข้าใจเขาก็อาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตก็ได้ - คงเคยได้ยินคำพูดนี้) แต่อย่างไรก็ตามกรณีของคุณ ในพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปของเขาที่คุณพบ คุณคงอยากให้เขาบอกคุณว่าเขาคิดอย่างไร คุณก็ต้องเป็นแม่ที่ลูกอยากจะคุยด้วย ที่ผ่านมาเชื่อว่าคุณอบรมเขามามากตลอด อาจถึงเวลาที่คุณต้องหยุดพูดมาก ลดการบ่นว่าสั่งสอนลง หันมาฟังเขา ถามเขา และใช้การกระทำช่วยเขาเป็นวิธีสอนแทน คุณแม่สอนเขาให้ทำอะไรก็เข้าไปช่วยหรือพร้อมจะช่วยเขาด้วย ไม่บ่นว่าอย่างเดียว และหากเขาไม่ได้ทำก็ไม่ต้องโกรธ เพราะถึงเขาไม่ทำวันนี้ แต่ส่ิงที่แม่สอนด้วยความอดทนเขาจะจดจำไว้ วันหนึ่งข้างหน้าเขาก็จะจดจำและทำตาม อาจช้าหน่อยแต่ลองหันไปมองพฤติกรรมของตนเองในอดีต เราอยากต่อต้านด้ือดึงเพื่อบริหารอำนาจของตัวเองว่าแม่ให้ความสำคัญแค่ไหน และยิ่งมีพ่ีมีน้องเป็นคู่แข่งหรือเช่ือฟังแม่ เขาก็พร้อมจะพัฒนาความแตกต่างของตัวเองออกไป ที่ผ่านมาดิฉันไม่ทราบว่าคุณก่ิง ได้ทำให้ลูกคนกลางรู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบบ้างหรือไม่ พยายามมองกลับไปและทบทวน เมื่อมีเวลาสองต่อสองกับเขา (พ่อแม่มีลูกหลายคนต้องพยายามหาเวลาสองต่อสองกับลูกเพื่อทำให้ลูกรู้สึกว่าเขา/เธอพิเศษสำหรับพ่อแม่) หาเวลากับเขาสองคนและบอกเขาให้เล่าเรื่องในโรงเรียน เรื่องเพื่อน ๆ ที่เขาชอบเพราะอะไร ทำไม เพือมองหาว่าอะไรมีอิทธิพลกับลูกของเรามากกว่าตัวเรา เด็ก ๆ สมัยนี้สนใจเรื่องสวยงาม หล่อ เก่งเรื่องที่พ่อแม่รับไม่ได้ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกบ้านเจอปัญหาวัยรุ่นเหมือน ๆ กัน นั่นเพราะสิ่งแวดล้อม เพราะ สื่อ รอบ ๆตัวเราทำให้ความสำคัญของพ่อแม่ ครอบครัว ของบ้าน น้อยกว่าคนและเรื่องนอกบ้าน เราคงต้องช่วยกันประคับประคองและพยายามช่วย ๆ กันทุกครัวเรือนอย่าคิดว่าที่บ้านเรา ลูกเราไม่มีปัญหา มีทุกบ้านค่ะ หลายบ้านก็อาจเป็นจุดเร่ิมของปัญหาวัยรุ่นเอง เราาจึงต้องค่อยพิจารณาศักษา มองไปรอบ ๆ ว่า อะไรใครอย่างไร ที่สำคัญคือ ไม่ว่าคุณจะเหนื่อยจะท้อจะเบื่อขนาดไหน อย่าถอดใจ หากเราวางมือถอดใจแล้วใครจะรักหวังดีกับเขาเท่าแม่ของเขาเอง แต่ให้พยายามมองว่าเป็นงานที่ยากท้าทายการพยายามแก้ไขหรือพยายามประคับประคองไว้ไม่ให้เหตุการณ์แย่ไปกว่าเดิม อยากให้ท่องไว้ในใจเสมอ ๆ ว่า "ชีวิตการเป็นพ่อแม่นั้นมันสั้นนัก!" เหนื่อยไม่นานลูกก็โตและไม่ต้องการเราต่อไป เพราะฉะนั้นด้วยเวลาอันน้อยนิดที่เรามีอยู่เพื่อเขา พยายามให้ถึงที่สุด อดทนจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องเร่งจะหาคำตอบหรือเดินให้สุดทาง เพราะถึงวันนั้นเราเดินย้อนกลับมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเดินบ้างวิ่งบ้างหัวเราะให้มาก ร้องไห้บางครั้งคราวแล้วทุกอย่างก็จะผ่านไป ดิฉันแนะนำคุณก่ิง ก็เหมือนพูดเตือนใจตนเองไปด้วยเพราะมีลูกชายวัยรุ่นถึงจะอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว ก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าของคุณ พยายามคิดเสมอว่าทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เขาเป็นปัญหากับสังคมไม่ว่ัาปัจจุบันหรืออนาคต เอาเท่านี่ก่อนนะมีอะไรจะคุยด้วยอีกก็เชียนไปได้ค่ะ ขอเป็นกำลังใจหรือมาเป็นกำลังให้กันและกันตามประสาหัวอกแม่แล้วกันนะ!

อาจารย์ อรอนงค์ อินทรจิตร
27 กุมภาพันธ์ 2558 17:53
Post อันดับที่ 1

ตอบกระทู้


กลับด้านบน