มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

คดี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

14 ธันวาคม 2563
คดี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ปัญหาเด็กแว้น หรือพฤติกรรมวัยรุ่น ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่แทบทุกวันขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องวัยรุ่นทะเลาะกันจนถึงขั้นลงไม้ลงมือกันรุนแรง เพียงแต่จำนวนนักเรียนที่มากขึ้น เข้าถึงอาวุธได้ง่ายขึ้น สื่อนำเสนอเรื่องราวได้เร็วขึ้น จึงทำให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ข่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2559 เกิดเหตุคดีพยายามฆ่า จากกรณีนักศึกษาสองสถาบัน ใช้อาวุธปืนยิง บริเวณปากซอยเสรีไทย 41 ในพื้นที่ สน.บึงกุ่ม ซึ่งต่อมาได้นำเข้าสู่ขั้นตอนของการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่รัดกุม รอบคอบ นำไปสู่การสืบสวนติดตามจับกุมตัวเด็กผู้ก่อเหตุได้สองคน ทั้งผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้ใช้อาวุธปืนยิง มีการประสานสหวิชาชีพร่วมสอบสวน และส่งสถานพินิจตามกรอบระยะเวลาของกฎหมาย 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากคดีตามข้อมูลข้างต้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและคำสั่งหัวหน้า  คสช. ที่  30/2559 สน.บึงกุ่ม ได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ปกครองเด็กผู้ก่อเหตุทั้งสองคน  ในความผิดฐาน “กระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน ให้นักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนตามบทบัญญัติ ตาม ม. 64 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อันเป็นเหตุให้นักเรียนหรือนักศึกษาไปก่อการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทั้งนี้ผู้ปกครองมอบตัว รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงนำเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมาย 


ซึ่งในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษา จำคุกผู้ปกครองเด็กผู้ก่อเหตุทั้งสองคน คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 60,000 บาท ผู้ต้องหารับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงให้จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา มีกำหนด 2 ปี ตามคดีหมายเลขดำที่ 30/2559 คดีหมายเลขแดงที่  30/2559 ลงวันที่ 15  กรกฎาคม พ.ศ.2559 

คดีนี้ ถือเป็นคดีแรกที่ดำเนินการตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ภายใต้การอำนวยการสั่งการ  การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และคำแนะนำด้านเทคนิคการสืบสวนและสอบสวนทางคดี ของท่าน ผบก.น.4 และนครบาล 4-4 จนนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจของศาล ตัดสินพิพากษาลงโทษผู้ปกครองเด็กผู้ก่อเหตุ ในอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานของคดีลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นต่อไป (จากการรวบรวมสรุปคดีโดยทีม สอบสวน สน.บึงกุ่ม)

ประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้คือ การนำเอาพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาใช้ในการลงโทษผู้ปกครองเด็กผู้ก่อเหตุทั้งสองคนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีอื่น ๆ ต่อไป  และถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้ฟังคำถามคำตอบ ระหว่างผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวน  แต่ก็พอใจในคำตัดสินของศาล ซึ่งการยอมรับผิดของผู้ปกครอง อาจเป็นคำแนะนำหรือความร่วมมือกับทนายความ หากรับสารภาพ โทษทุกอย่างก็จะเบาลง แต่ในความเป็นจริง ผู้ปกครองได้ตระหนักหรือยอมรับว่าตน “กระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน ให้นักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนตามบทบัญญัติ  ตาม ม.64 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 อันเป็นเหตุให้นักเรียนหรือนักศึกษาไปก่อการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น....” หรือเพียงยอมรับ ๆ ไปเรื่องจะได้จบ ซึ่งการใช้กฎหมายดังในกรณีนี้ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนการป้องกันเพื่อไม่ให้บุตรหลานก้าวไปสู่การกระทำความผิดนั้น เริ่มต้นที่พ่อแม่ในครอบครัวตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอน สนับสนุนให้เยาวชนมีจิตใจใฝ่ดี มีความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน และที่สำคัญคือ “ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี”แก่เด็ก ๆ 

ผู้ใหญ่ในที่นี้ ทุกคนรู้ดีว่าหมายถึงพ่อแม่ผู้ปกครองทุกผู้ทุกคนทั้งในระบบราชการ เอกชน และนักการเมืองการปกครองทุกระดับ ที่ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็ก ของวัยรุ่น ตลอดจนรู้หลักในการเลี้ยงดูอบรมลูก มีความพร้อมในการเป็นพ่อแม่ แต่ในยุคนี้เมื่อเหลียวกลับไปมอง เราจะพบว่า พ่อแม่จำนวนมากมาย ไม่มีความพร้อมในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว หลายรัฐบาลเคยพูดหรือพยายามที่จะให้มี “โรงเรียนพ่อแม่”  แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มี ไม่ได้เห็นความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่จริงจังในเรื่องนี้

พ่อแม่ทุกครอบครัวส่วนใหญ่ทุกวันนี้  ต้องออกจากบ้านไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตและค่าการศึกษา เพราะฉะนั้นเวลาอยู่กับลูก ๆ มีไม่มาก ไม่เหมือนสมัยที่ประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาไปสู่ระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เช่นที่เป็นอยู่ เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถอบรมสั่งสอนได้โดยตรง การส่งไปโรงเรียนดี ๆ หรือแพง ๆ ก็ด้วยหวังว่าครูอาจารย์จะเป็นที่พึ่งของเด็ก ๆ ได้ แต่ครูอาจารย์ก็มีปัญหา มีความต้องการไม่ต่างจากพ่อแม่ เวลาที่มีอยู่จึงหมดไปกับการทำให้การศึกษาเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญเด็กที่เรียนเก่งหรือฐานะทางครอบครัวดี ก็จะได้เจอกับครูเก่ง ๆ ครูที่ดีในสถาบันที่มีชื่อเสียง ในขณะที่นักเรียนที่เรียนอ่อน เพราะสติปัญญาด้อยกว่าหรือไม่ใส่ใจเรียน ไม่ชอบเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง ครอบครัวมีปัญหาพ่อแม่ทะเลาะขัดแย้ง ไม่เข้าใจวัยรุ่น การเงินติดขัด ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเครียด กลัว ฯลฯ ขณะเดียวกันด้วยสถานภาพที่ด้อยกว่า ก็ต้องไปเรียนในโรงเรียน และในชั้นเรียนที่ “ครูผู้สอนเองก็อ่อนด้อย และมีปัญหา หรือสอนไม่เก่งสอนไม่เป็น ไม่ภูมิใจในอาชีพของตน !” ยิ่งทำให้นักเรียนกลุ่มนี้ต้องมีปัญหาเพิ่มขึ้น และแทนที่การใส่ใจเรียนรู้ เด็กวัยรุ่นจำนวนมากที่อยู่ในสภาพเหมือนถูกทอดทิ้งทั้งจากพ่อแม่ ครูอาจารย์หรือผู้ใหญ่ทั่วไป จึงต้องหันไปคบเพื่อน สร้างมิตรที่จะทำให้เขารู้สึกมั่นคง มีความกล้า กล้าที่จะปกป้องตนเองปกป้องเพื่อน หรือคุกคามเอาเรื่องกับคนที่เขาขัดแย้งด้วย เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกเข้มแข็งปลอดภัย และอยู่ได้ในสังคมที่เขาไม่เป็นที่สนใจของผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัว

ที่มากกว่านั้นคือ ในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต สำหรับวัยรุ่นฮอร์โมนมีปฏิกิริยาต่อร่างกายและจิตใจของวัยรุ่นมาก ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่มีอารมณ์ขึ้นลงไม่แน่นอน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายวู่วาม ควบคุมตนเองไม่อยู่ หากพื้นฐานทางครอบครัวอ่อนแอก็จะยิ่งทำให้แยกแยะถูกผิดควรไม่ควรไม่เป็น ทำให้พร้อมจะตกเป็นเหยื่ออารมณ์ตนเอง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพทางสังคมจิตวิทยา และจากครูอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน แต่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสิ่งแวดล้อม ปัญหาเหล่านี้  ก็ยังวนเวียนด้วยเรื่องเดิม ๆ เพียงแต่รุนแรงขึ้น พ่อแม่และวัยรุ่นเหล่านี้เข้าไม่ถึง ความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือ รัฐไม่ได้เตรียมนักวิชาชีพที่มีคุณภาพ ไว้คอยให้ความช่วยเหลือกับประชาชนจนถึงทุกวันนี้ 

ดังในกรณีข้างบนนี้ จะเห็นว่าพ่อแม่ต้องทำงานหนัก ต้องออกไปทำงานทำมาหากินแก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อสร้างครอบครัว ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนขาดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจคลอนแคลน เมื่อมีปัญหาครอบครัว คู่สมรสหรือปัญหาลูก ๆ ไม่สามารถไปขอรับคำปรึกษาแนะนำจากนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ได้ หรือแม้กระทั่งจะปรึกษาเรื่องวัยรุ่นที่โรงเรียน ก็ไม่มีครูแนะแนวที่มีความพร้อมจะให้คำปรึกษาแนะนำ ขณะเดียวกันความเจริญด้านเทคโนโลยีและสื่อ (น้ำเน่า) ต่าง ๆ กลายเป็นการชี้นำการดำเนินชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยให้กับวัยรุ่น โดยเฉพาะภาพพจน์ของผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าวบริหารอำนาจ ฉ้อโกง คอรัปชั่น แต่ยังอยู่ได้ท่ามกลางคนให้เกียรตินอบน้อมยอมรับของผู้คนในสังคม เป็นตัวอย่างที่ขาดคุณธรรมและศีลธรรม ทำให้คำสั่งสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่มีความหมายในเมื่อตัวอย่างที่เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ได้เป็นดังนั้น

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายมาใช้ช่วยดังในกรณี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นเรื่องดีและทันสมัยมาก เพียงแต่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐอาจมีความล่าช้า  ขาดความเข้าใจในเนื้อหาและหลักการที่แท้จริงของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว การทำงานจึงเหมือนกล้า ๆ กลัว ๆ ขาดข้อมูลและบ่อยครั้งกลายเป็นอุปสรรคของนักวิชาชีพอื่น ๆ ดังในกรณีของมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์

เด็กหญิงวรรณดี  อายุ  16 ปี ศึกษาอยู่มัธยมปลายโรงเรียนรัฐบาลมีชื่อย่านลาดพร้าว บิดารับราชการประจำกรุงเทพมหานคร มารดาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการมหาวิทยาลัยปิดมีชื่อ ทั้งสองมีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าลูกสาวคนเดียวจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดได้แน่นอน โดยเฉพาะมารดาที่จัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้ลูกสาวคนเดียวได้เดินไปตามความฝันของเธอ แต่เธอไม่รู้ว่า ลูกสาววัย 16 ปี พร้อมเพื่อนชายวัยเดียวกันได้เข้ารับคำปรึกษาแนะนำที่มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ กรณีที่เธอกำลังตั้งครรภ์ได้เกือบสามเดือน และเธอต้องการเก็บเด็กในท้องไว้ เด็กสาวมีความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบ ไม่ทำบาป เธอพร้อมจะเลื่อนการเรียนไปก่อน เธอและเพื่อนชายติดต่อสถานที่รับเลี้ยงเด็กแรกเกิดเอาไว้  หลังจากนั้นครอบครัวของฝ่ายชายซึ่งรับรู้เรื่องนี้จะเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กจนกว่าทั้งสองคนจะเรียนจบมหาวิทยาลัย

เด็กสาวและเพื่อนชาย รวมทั้งครอบครัวของเด็กหนุ่มทั้งหมด ผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเป็นระบบและชัดเจนในการที่จะเก็บเด็กในครรภ์ไว้ แต่จะทำอย่างไรจึงจะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ  ไม่ให้พ่อแม่ของเด็กสาวรับรู้ เพราะเด็กสาวบอกว่า “พ่อแม่ไม่มีวันจะปล่อยให้เธอเก็บเด็กไว้ เพราะทั้งสองคนเป็นคนรักษาหน้ามาก พ่อแม่รับไม่ได้หรอกที่จะให้ใครรู้ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอจะต้องหยุดเรียนเพื่อเลี้ยงลูก  ทันทีที่พ่อแม่รู้ ทั้งสองคนจะต้องพา “วรรณดีไปทำแท้งแน่นอน!

แต่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เราจะใช้กฎหมายฉบับนี้โต้แย้งพ่อแม่เธอ หากทั้งสองคนรับรู้เรื่องนี้ก็คงไม่กล้าพาลูกไปทำแท้ง  เพราะฉะนั้นเราตกลงจะโทรศัพท์เชิญพ่อแม่ของเธอมาคุย ถึงแม้ “วรรณดีจะเชื่อว่าพ่อแม่ไม่ยอมแน่ เด็กสาวต้องการขอหลบซ่อนตัวที่องค์กรเอกชนเช่นเรา แต่  พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กได้ระบุไว้ว่า หน่วยงานใดจะรับวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไว้พักพิงจะต้องได้รับคำอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กก่อน ซึ่งต่างจากก่อนหน้าที่  พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จะออกมา นั่นคือวรรณดีไม่สามารถเข้าพักพิงในหน่วยงานเอนจีโอใด ๆ หากพ่อแม่ไม่อนุญาต

เมื่อพ่อแม่ของ “วรรณดีมาพบพวกเราพร้อมหน้ากันหมด และรู้ว่าลูกสาวเป็นผู้มาขอคำปรึกษาแนะนำ  และเธอได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเอาเด็กไว้  มารดาของวรรณดีแสดงความกราดเกรี้ยวและปฏิเสธจะรับรู้รับฟังความต้องการของวรรณดีเธอบอกว่า “ลูกไม่รู้หรอกว่าการเอาเด็กไว้จะทำลายโอกาสของตัวเอง  และพ่อแม่มากแค่ไหน พ่อแม่จะตอบคำถามเพื่อน ๆ ร่วมงานได้อย่างไร ญาติผู้ใหญ่จะต้องอับอายกับการกระทำของเธอ!” ในขณะที่วรรณดีโต้แย้งมารดาของเธอว่า “หนูจะมองหน้าตัวเองได้ยังไง  ปิดบังใครก็ปิดได้  แต่ตัวหนูเองจะทำใจยอมรับว่าตัวเองทำลายชีวิตเด็กคนหนึ่งได้อย่างไร?

การพูดคุยเจรจาใช้เวลาหลายชั่วโมง โดยพยายามจะเสนอทางออกให้พ่อแม่ของ “วรรณดียอมรับการตัดสินใจของเด็กสาว เธอต้องการเรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยการแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองกระทำไป  และไม่อยากจะหลบหนีความจริงไปตลอดชีวิต สุดท้ายสองสามีภรรยาเสียงอ่อนลงและขอให้ วรรณดีกลับไปบ้านด้วยกันก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้ง  ทำให้วรรณดีจำใจยอมกลับบ้านพร้อมพ่อแม่ของเธอ

รุ่งขึ้นตอนสาย ๆ “วรรณดีโทรศัพท์มาบอกว่าเธอเพิ่งจะหลบหนีพ่อแม่ออกจากคลินิกทำแท้ง แถวเขตดินแดง จึงแนะนำให้เธอนั่งรถแท็กซีมาที่มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์  พร้อมกันเราได้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดินแดง ให้ไปตรวจสอบที่คลินิกทำแท้งว่ากำลังมีเด็กสาวจะถูกทำแท้ง ให้ไปช่วยระงับ  ไม่นานวรรณดีก็มาถึงมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ เธอเล่าว่า เธอรู้ว่าพ่อแม่จะไม่มีวันยอมให้เธอเอาเด็กไว้ กลับไปเมื่อคืนพ่อแม่ทำเหมือนโอนอ่อนเพื่อให้เรื่องผ่านไปก่อน พอตอนเช้าก็ปลุกเธอขึ้นแต่งตัวพาไปที่คลินิกนั่น ระหว่างที่พ่อแม่กำลังเจรจากับหมอ เธอก็หลบออกมาและเชื่อว่าไม่นานพ่อแม่จะตามเธอมาที่นี่ 

เราจึงต้องหาที่หลบซ่อนให้ “วรรณดีตามกฎหมายเธอจะปลอดภัยหากเราพาเธอไปหลบซ่อนตัวที่หน่วยงานรัฐ เราจึงพาเธอไปส่งเข้ารับการดูแลจากหน่วยงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งมีบ้านพักสำหรับผู้หญิงและเด็กเหยื่อความรุนแรงเช่นกัน  ด้วยความเชื่อว่าวรรณดีจะปลอดภัย เพราะทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์จัดการนั้น  ดำเนินไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทุกประการ

เมื่อพ่อแม่ของ “วรรณดีพาตำรวจมาตามหาลูกสาวที่สำนักงานมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ แต่ไม่พบ เราปฏิเสธไม่ได้รับเธอไว้ และไม่รู้ว่าวรรณดีอยู่ไหน ทั้งสองจึงกลับไป ทว่า...หลังเหตุการณ์วันนั้นผ่านไปสามถึงสี่วัน วรรณดีก็ได้โทรฯ กลับมาเล่าด้วยเสียงปนสะอื้นว่า “เมื่อเธอเข้าไปอยู่ในการดูแลขององค์กรแห่งนั้นแล้ว เป็นกฎระเบียบขององค์กรจะต้องแจ้งให้พ่อแม่รับทราบ เมื่อพ่อแม่รู้ว่าเธอยู่ที่นี่ ก็ได้ไปยืนด่าเจ้าหน้าที่ที่หน้าองค์กรและขู่ว่าจะร้องเรียนทางกฎหมายว่าองค์กรพรากผู้เยาว์ มีเรื่องโต้เถียงกันสองวัน เจ้าหน้าที่จึงยอมปล่อยเธอให้กลับบ้านกับพ่อแม่ ทันทีพ่อแม่ก็พาเธอไปทำแท้ง ตอนนี้เธอทำแท้งแล้ว!

มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ได้ติดตามเรื่องไปยังหน่วยงานดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้ถือกฎหมายคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ทำไมกลับคุ้มครองไม่ได้ ที่สำคัญ พ่อแม่พาลูกสาวไปทำแท้ง นั่นเป็นความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550  เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเอาความผิดกับพ่อแม่ “วรรณดีได้ เพราะอะไรจึงปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น?

ถึงคำตอบจะไม่ชัดเจน แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจและไม่ชัดเจนในเนื้อหาข้อมูลของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ทั้งการขาดทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้ขาดความสามารถในการนำเนื้อหาด้านชีวิต สังคมและกฎหมายมาใช้ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน


กลับด้านบน